การเรียนรู้แบบบ้านเรียนเข้มคราม ตอนหนึ่ง
ติดต่อลงโฆษณา
Leaderboard in Content 1st
Fixed 1,000 baht/month
Slot 300 baht/month
บ้านเราพยายามจะไม่สอนอะไรลูก ถ้าเขาไม่ร้องขอ (ต้องใช้ความพยายามมากนะ ที่จะไม่สอน) ดังนั้นกระบวนการที่ใช้ก็จะต้องหนักไปในทาง "กระตุ้น" หรือ "ชี้ชวน" ให้เขาเกิดความสนใจ เพื่อจะได้นำไปสู่กระบวนการเรียนการสอนกันต่อไป กระบวนการชี้ชวนนี้จะดูว่าเหมือน "สอน" ก็ได้ เพราะหลักๆ คือการพาไปชิม ไปลอง หรือให้ได้เห็น ได้ดู ได้ฟัง เพียงแต่การประเมินผลจะอยู่ที่ "เกิดความสนใจ" หรือ "ไม่เกิดความสนใจ" เพียงเท่านั้น  ไม่ใช่มา
ตั้งเป้ากันว่าไปทำนู่นนี่นั่น หรืออ่านเรื่องนี้ ดูเรื่องนั้น แล้วจะต้องเก่ง จะต้องรู้เรื่อง เข้าใจ หรือต้องมาทดสอบอะไรกัน
[break]

เมื่อเกิดความสนใจแล้วก็จะไปสู่อีกกระบวนการหนึ่งคือ การเข้าสู่การเรียนอย่างจริงจัง ขั้นตอนนี้เด็กจะเริ่มเห็นแล้วว่าการเรียนรู้ไม่ใช่แค่การทำตามใจตัวเอง ถ้าอยากรู้เรื่องนี้ บางทีต้องผ่านเรื่องนั้น บางทีต้องทำสิ่งที่ไม่อยากทำ ผ่านเรื่องยาก ผ่านความลำบาก ...ตรงนี้พ่อแม่ก็ต้องคอยกระตุ้นบ้าง ปลุกเร้าบ้างอยู่ตลอดเหมือนกัน เพราะโดยธรรมชาติเด็กก็อาจจะมีขี้เกียจบ้าง เบื่อบ้าง เป็นธรรมดา แต่ตราบใดที่เขายังไม่ละความพยายาม แปลว่าความสนใจยังต่อเนื่องอยู่ เพียงแต่อาจจะต้องการแรงกระตุ้นบ้างเท่านั้น

เมื่อเด็กเกิดความสนใจ การวัดผลก็คือความก้าวหน้าในกิจกรรมที่เขาทำไป โดยไม่จำเป็นต้องเปรียบเทียบกับคนอื่น ไม่เกี่ยวกับว่าเขาจะมีทักษะเฉพาะหรือไม่ มีอัจฉริยภาพเฉพาะทางนั้นหรือไม่ บางครั้งสิ่งที่ลูกชอบหรือเกิดความสนใจอาจจะไม่ใช่สิ่งที่ลูกทำได้ดี ซึ่งระหว่างนั้นเราก็ยังอาจจะกระตุ้น หรือชี้ชวนเขาไปพบกับประสบการณ์ใหม่ๆ อยู่อีก เพราะสิ่งที่เขาเคยไม่ชอบในวันนี้ ไม่ได้แปลว่าวันหน้าจะไม่ชอบ เรื่องที่เคยทำไม่ได้ในวันก่อน ไม่ใช่ว่าวันนี้จะทำไม่ได้ สิ่งสำคัญคือทำให้เขารู้จักตัวเองให้ได้ว่าณ ช่วงเวลานั้นๆ เขาอยากจะทำอะไร และมีโอกาสได้ทำอย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องมานึกเสียใจในภายหลัง

กระบวนการวัดผลของบ้านเรา จึงไม่เกี่ยวกับว่าจะเปรียบเทียบกับใคร หรือเกี่ยวกับว่าจะได้กี่คะแนน แต่เกี่ยวกับว่าเขายังมีความสนใจที่จะเรียนรู้อยู่หรือเปล่า ถ้าทำได้ดีก็ถือว่าดี ทำได้ไม่ดีก็แค่รู้ว่ายังทำได้ไม่ดี จึงไม่ใช่การเรียนแบบแพ้คัดออก ที่ต่ำกว่า 50% แปลว่าสอบตก แปลว่าโง่ หรือควรไปดรอป เลิกเรียนเสียดีกว่า ...เราไม่ได้สอนลูกแบบนั้น 

ถ้าวันนี้ทำคะแนนได้ 10% พรุ่งนี้ทำได้ 11% ก็ถือว่ามีพัฒนาการขึ้น อีกวันเหลือ 5% เออ..ช่วงนี้อาจจะขี้เกียจหรือขาดแรงบันดาลใจ ก็แค่ให้รู้ไว้ แล้วเดินหน้าต่อไป ถ้ายังอยากเรียนอยู่ แม้ทั้งชีวิตก็ยังเรียนไปได้

จริงๆ กระบวนการชี้ชวนนี้ เด็กโรงเรียนจะได้เปรียบเด็กบ้านเรียนด้วยซ้ำ เพราะความสนใจเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าจากกระบวนการกลุ่ม พอมีสักสองสามคนสนใจ หรือบางทีแค่คนเดียวสนใจ (แต่มีความเป็นผู้นำสูง) เพื่อนๆ ทั้งกลุ่มก็พลอยจะสนใจตามๆ กันไปด้วย แต่ความยากอยู่ที่การสร้างความสนใจนี้ให้เกิดขึ้นมากกว่าการไปจับยัดให้เด็กตามหลักสูตรอย่างเดียว

 สำหรับเด็กๆ แล้ว เขาสนใจกับสิ่งกระตุ้นทุกอย่างที่ผ่านเข้ามา แต่จะพัฒนาเป็นความสนใจจริงๆ หรือเปล่านั้นไม่แน่เสมอไป แต่เท่าที่เห็นกระบวนการกลุ่มมีความสำคัญมาก ถ้าเพื่อนเอา ก็เอาด้วย ...ถามไปถามมาทุกคนพูดแบบเดียวกัน เลยไม่รู้ว่าใครเอา แต่ว่ากลายเป็นทั้งกลุ่มเอา เดินไปด้วยกันได้ ดังนั้นจริงๆ แล้วรร.จะได้เปรียบในเรื่องการจัดกระบวนการกลุ่ม ถ้าสามารถสร้างความสนใจให้กับแกนนำหรือกลุ่มนำได้ กลุ่มใหญ่ก็เคลื่อนตามได้ กลุ่มนำคือกลุ่มที่เกิดความสนใจอันเกิดจากความอยากรู้อยากเห็น ต่างจากคนทำคะแนนเต็มหรือเรียนเก่งๆ ซึ่งมักจะเป็นกลุ่มตาม คือครูสอนอะไรก็ว่ากันไปตามนั้น เชื่อฟัง ตั้งใจเรียน ทำงานตามที่สั่ง อยู่ในโอวาท เด็กกลุ่มนี้เป็นกลุ่มตาม ไม่มีพลังจะไปดึงเพื่อนๆ ให้เกิดความสนใจในเรื่องนั้นๆ ได้ สนใจแต่จะทำคะแนนให้กับตัวเองเท่านั้น

คุณไอน์สไตน์ดูเหมือนเคยพูดไว้ว่า “คนเราเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ จะไม่มีใครคิดถึงเรื่องเวลายืดหดได้อีกเลย มันเป็นความคิดของเด็กเท่านั้น แต่โชคดีที่หัวผมช้า ผมจึงเพิ่งมาสงสัยเรื่องเวลายืดหด เอาเมื่อตอนโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว”
 
ชาร์ล ดาร์วิน อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ และ เซอร์ไอแซค นิวตัน สามอภิมหาอัจฉริยะอันดับ 1 – 3 ของโลก เริ่มต้นชีวิตในวัยเด็กด้วยความผิดปกติ ทั้งดาร์วิน ไอน์สไตน์ และนิวตัน ถูกครูปรามาสว่า เป็นเด็กหัวทึบ ครูบางคนถึงขนาดบอกว่าปัญญาอ่อนกว่าเด็กทั่วไป 
 
หัวช้า เรียนรู้ไม่ได้ 0 คะแนน มันไม่ได้มีความหมายอะไรเลย และไม่ได้แปลว่า "อย่าไปเรียนเรื่องนี้เลย มันไม่เหมาะกับเธอหรอก"



by Jo on Oct 08, 2012

Posted in ไม่มีหมวดหมู่

ป้ายคำค้น

ในหมวดเดียวกัน
ป้ายคำค้นเดียวกัน

โปรเจ็กต์ของผู้แต่ง