เหตุเกิดที่นวลวรรณศึกษา 1 โดย ชาตรี สำราญ
ติดต่อลงโฆษณา
Leaderboard in Content 1st
Fixed 1,000 baht/month
Slot 300 baht/month
เป็นงานเขียนที่ ต่อยอดมาจาก การสอนเขียน กวี 3 บรรทัด เรื่องสั้นสั้น ใน เด็กคนนั้น และ ดำเด็กข้างบ้านครับ

คำนำ
                “เหตุเกิดที่นวลวรรณศึกษา”   เป็นเรื่องราวของการมองงานเขียนของเด็กๆ โรงเรียนนวลวรรณศึกษา  โดยมองแบบต่อยอดงานของเด็กมากกว่าอ่านเรียงความแล้วค้นหาคำผิด  ผมคัดเลือกผลงานของเด็กๆ  เพียงไม่กี่เรื่องจากงานทั้งหมด 60 เรื่อง  มานำเสนอในครั้งนี้  เพื่อเสนอมุมมองอีกมุมหนึ่งของคุณครูและผู้ปกครองที่สนใจจะพัฒนาลูกศิษย์หรือบุตรหลานของท่าน
                ทักษะการอ่านเป็นเรื่องที่สร้างความยุ่งยากใจให้แก่รัฐมานานแสนนาน  โครงการรณรงค์ให้คนไทยมีนิสัยรักการอ่านเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า  จนสถิติการอ่านเพิ่มขึ้นบ้างเล็กน้อย  แต่ทักษะการเขียนนั้นยังไม่มีการชักชวนให้คนไทยรักการเขียน  ผมเห็นว่า  การอ่านกับการเขียนเป็นสิ่งคู่กัน  ถ้าจะให้เด็กอ่านต้องให้เขาเขียน  ถ้าจะให้เขาเขียนต้องให้เขาอ่าน  ดังนั้นเมื่อผมไปที่โรงเรียนนวลวรรณศึกษา  ผมเข้าไปเยี่ยมเด็กๆ  ผมก็ได้อ่านงานเขียนของพวกเขา  ผมชอบจึงนำมาเล่าสู่กันฟัง[break]

                ผมขอบคุณคุณนวลลออ  สาครนาวิน  ผู้จัดการโรงเรียนนวลวรรณศึกษา  (สุขุมวิท 103  ซ.ประวิทย์และเพื่อนบางจาก  พระโขนง  กทม.  10260)  และคุณครูอุมาภรณ์  เชาวลิต  ครูผู้ตั้งใจสอนให้เด็กๆ รักการอ่านการเขียน  ที่เปิดโอกาสให้ผมได้พบกับเด็กๆ จึงได้อ่านผลงานของพวกเขา  ขอบคุณทุกท่านที่ติดตามอ่านงานของผมด้วยครับ
 
ชาตรี   สำราญ
  11  ต.ค.  55
081-9576136

ตอนที่ 1 พบเพชร

                มีเพื่อนครูบางท่านถามผมว่า  “เวลาอ่านงานของเด็กผมคิดอย่างไร”  ผมจะบอกทุกคนว่า  ผมอ่านเพื่อหาสิ่งถูกมาต่อยอดให้เด็กๆ  ดังนั้นเด็กๆ จะไม่เห็นวงกลมสีแดงบนผลงานของเขา  เพราะผมไม่ได้จับผิดเขา  เขาจึงไม่มีที่ผิด  ก็มีคนถามผมต่อไปอีกว่า  แล้วถ้าเด็กเขียนคำผิดล่ะจะทำอย่างไร  เท่าที่ผมเคยปฏิบัติมาคือ
1. ผมจะจดคำที่เด็กเขียนผิดไว้ในสมุดของผม  เพราะถ้าเด็กเขียนคำนั้นผิดครั้งแรก  ผมจะไม่ถือว่าเขียนผิด  เขาอาจจะลืมก็ได้หรือเขารีบจึงเขียนพลาดไป  ซึ่งผมเองก็เคยเขียนพลาดมาแล้ว  แต่ถ้าเขาเขียนผิด 2 ครั้งขึ้นไป  ผมจะถือว่าเขาเขียนผิด  เราจะต้องนั่งพูดคุยกันหาทางแก้ไขกัน
วิธีการแก้ไข  ผมมักจะถามเด็กว่า  “เขียนอย่างนี้ถูกไหม  ครูอยากรู้  ลองช่วยเปิดพจนานุกรมให้หน่อย?”  ฝึกให้เขาใช้เครื่องมือประกอบการเขียน  หรือเขียนคำที่ถูกให้  แต่มักจะใช้วิธีแรกมากกว่า  เพราะเด็กผ่านการค้นคว้า  เขาจะจำได้นาน
2. การที่เด็กเขียนผิด  ผมจะไม่คิดว่าเด็กเขียนผิด  ผมจะคิดว่า  ผมยังสอนให้เขาเขียนได้ไม่ถูก  นั่นคือผมต้องหาวิธีการแก้ไขและผมต้องปรับปรุงที่ตัวผมเองมากกว่าไปโทษเด็ก

    เวลาผมอ่านเรียงความของเด็กๆ นั้น  ผมจะอ่านความที่เด็กๆ  นำมาเรียงกันว่ามีความถูกต้องมากน้อยเพียงใด  มีความดี  ความงาม  ตรงไหน  มากกว่าค้นหาคำที่เขียนผิด  แต่ถ้าเจอคำผิดผมจะจดบันทึกไว้  ดังนี้

1 ก.ย. 55  สิ่งที่พบเห็น  วันนี้  ประสิทธิ์เขียนคำว่า  แกล้ง  เป็น  แกร้ง  จึงจดบันทึกไว้  แต่ไม่คิดว่า  ประสิทธิ์เขียนผิด  เขาอาจจะเผลอไปก็ได้

2 ก.ย. 55 สิ่งที่พบเห็น  วันนี้  ประสิทธิ์เขียน  แกร้ง  อีก  แสดงว่าเขาเขียนผิดจริง  เพราะซ้ำ 2 ครั้งแล้ว  จึงเรียกประสิทธิ์มาพูดคุยกัน  ถามถึงเรื่องที่เขียนว่า  “ทำไมจึงเขียนเรื่องนั้นมาส่งครู”  ประสิทธิ์ตอบว่า  “ผมโดนเพื่อนแกล้งครับ”  จะสังเกตได้ว่า  ประสิทธิ์พูดคำควบกล้ำพลาดจึงส่งผลให้เขียนคำนั้นผิด  จึงให้ประสิทธิ์เปิดพจนานุกรมดูคำนั้น  และพูดให้ถูก

3 ก.ย. 55 สิ่งที่พบเห็น  วันนี้  ประสิทธิ์เขียน แกล้ง  ถูก  เวลาอ่านออกเสียงก็อ่านถูก  แต่พอถึงคำแกล้ง  เขาจะหยุดชะงักนิดหนึ่งเหมือนรวบรวมสติแล้วอ่าน  เชื่อว่าต่อไปเขาคงจะเขียนแกล้งได้ถูกต้อง  แต่ต้องสังเกตต่อไป


                การบันทึกรายละเอียดที่พบเห็นพฤติกรรมการเรียนของผู้เรียนเป็นรายบุคคล  จะเป็นข้อมูลหรือเครื่องมือในการวิจัยในชั้นเรียนได้เป็นอย่างดี
               
          3. ยังมีวิธีช่วยเหลือเวลาที่เด็กๆ  เขียนคำผิดซึ่งผมใช้บ่อยๆ  เมื่อต้องการให้เด็กคนนั้นเขียนคำได้ถูกต้องไวๆ  ผมจะเขียนแสดงความคิดเห็นของผมลงไปในท้ายผลงานของเด็ก  เช่น  คำว่า  แกร้ง  ผมจะเขียนว่า 

                “อ่านเรื่องของประสิทธิ์แล้วชอบมาก  เพราะตอนเด็กๆ  ครูก็เคยถูเพื่อนแกล้งเหมือนกัน  แต่ครูไม่โกรธคนที่แกล้งครู  ลองเขียนเล่าเรื่องอื่นๆ ให้ครูอ่านอีกนะ”

                ผมสังเกตเห็นเด็กเจ้าของผลงานอ่านแล้วหันมายิ้มกับผมและรีบแก้คำผิดคำนั้นทันที  แต่ผมชอบวิธีการค้นหาคำถูกจากพจนานุกรม  เพราะเด็กๆ จะรู้จักการใช้พจนานุกรมให้เป็นประโยชน์ต่อการอ่าน  การเขียน  และเด็กจะรู้จักการค้นหาความรู้ได้ด้วยตนเอง
                ในการขึ้นมากรุงเทพ  ครั้งนี้ของผมจะว่าเป็นการบังเอิญก็คงไม่ใช่  เพราะผมจะมารับการตรวจหัวใจตามที่คุณหมอนัดไว้  แต่ผมขึ้นมาก่อนกำหนดเลยมาพักที่บ้านพักภายในโรงเรียนนวลวรรณศึกษา  วันนี้ผมว่าง  (7 ส.ค. 55) ถือโอกาสมานั่งคุยกับเพื่อนครูที่โรงเรียนนี้
                ยังเช้าอยู่  เด็กๆ ทยอยกันมาโรงเรียน  ผมนั่งคุยกับคุณนวลลออ  สาครนาวิน  เจ้าของและผู้จัดการโรงเรียน  มีเด็กผู้หญิง 2 คน  เข้ามาพบคุณนวล  เพื่อมาขอพรจะไปแข่งขันการอ่านออกเสียง  หนึ่งในจำนวนนั้น  พูดไปสักพักก็ร้องไห้  เมื่อสอบถามได้ความว่า  เมื่อวานนี้กลับจากโรงเรียนไปบ้านไม่เห็นกระรอกที่เลี้ยงไว้  มันตายก่อนเธอจะไปถึง  จึงยังเสียใจอยู่  คุณนวลพูดปลอบใจ  จนปิ่นเด็กผู้หญิงคนนั้นคลายความเสียใจลงได้  คุณนวลแนะ  ทำให้ปิ่นรู้จักกับผม  เราพูดคุยกันครู่หนึ่ง  คุณครูก็มารับตัวเพื่อเดินทางไปยังสถานที่แข่งขันอ่านออกเสียง  ก่อนจากกันผมบอกปิ่นว่าเขียนเรื่องกระรอกของปิ่นให้ผมอ่าน  พรุ่งนี้ผมจะคอยอ่าน  แล้ววันรุ่งขึ้น  เด็กหญิงกุลนภา  พิบูลย์ศิลป์ หรือ  ปิ่น  เด็กน้อยน่ารักก็ส่งเรื่อง  “กระรอกน้อยของฉัน”  ให้ผมอ่าน  เธอเขียนว่า
 
กระรอกน้อยของฉัน
                ฉันเพิ่งมีกระรอกตัวแรกที่รักและห่วงใย  ฉันดูแลเจ้ากระรอกน้อยคล้ายๆ ดูแลคน
                พ่อซื้อกระรอกตัวนี้มาให้ฉัน  ฉันตั้งชื่อมันว่า  “ซานต้า”  เพราะฉันซื้อมันมาตอนเดือนธันวาคม  ช่วงวันคริสต์มาส  เลยให้ชื่อมันว่า  “ซานต้า”
                ฉันเลี้ยงซานต้าโดยให้กิน “ซีรีแล็ค”  เพราะคนขายกระรอกตัวนี้บอกฉันมาอย่างนี้  ตอนกระรอกตัวเล็กๆ  ฉันจะชงซีรีแล็คให้กิน  แต่พอซานต้าโตขึ้น  ฉันให้ซานต้ากินผลไม้
                ฉันชอบเล่นกับซานต้าทุกวัน
                ฉันรักซานต้า
 
                แต่เมื่อ 6 ส.ค. 55  ฉันกลับไปถึงบ้านตอนเย็น  ฉันเห็นกรงของซานต้าว่างเปล่า  ยายบอกฉันว่า  “ซานต้าตายแล้ว”  พอได้ยินคำนี้  กระเป๋าที่ฉันถืออยู่หลุดจากมือไปตอนไหนไม่รู้  ฉันล้มตัวลงกับพื้นบ้านแล้วร้องไห้  จังหวะนั้นมันทำให้ฉันคิดได้ว่า  ความรักความเสียใจมันเป็นอย่างไร
                ฉันฝังซานต้าไว้ที่ใต้ต้นพุดซ้อน  ก่อนฝังฉันบอกซานต้าว่า  “แล้ววันหน้าค่อยเจอกันใหม่นะ”
                ฉันรักซานต้า
ด.ญ.กุลนภา  พิบูลย์ศิลป์  (ปิ่น)  ป.5
7 ส.ค. 55
 
                อ่านเรื่อง  “กระรอกน้อยของฉัน”  จบลง  สิ่งแรกที่ผมคิดคือ  ปิ่นเขียนเรื่องจากเรื่องจริง  เรื่องจริงที่เกิดขึ้นในชีวิตของปิ่นเอง  ปิ่นสามารถหยิบเรื่องราวจากสิ่งที่พบผ่านเข้ามาในชีวิตของปิ่นมาเล่าให้ผู้อ่านฟังได้อย่างน่าอ่าน  การเขียนเรื่องแบบนี้เรียกว่า  “การเขียนเรื่องจากประสบการณ์”  ชนะ  เวชกุล. (2524).  ได้กล่าวถึงการเขียนเรื่องจากประสบการณ์ว่า
                “เรื่องราวจากประสบการณ์นั้น  จะต้องมีรายละเอียดในแง่ความสำคัญของเหตุการณ์นั้นๆ  สถานที่ของเหตุการณ์  บุคคล  ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์...”
                สำหรับกลวิธีการเขียน  ชนะ  วชกุล. (2524)  กล่าวว่า  “ในลักษณะของกลวิธีการเขียน  อาจใช้กลวิธีการเขียนเรื่องสั้นก็ได้  คือผู้เขียนเล่าเหตุการณ์ไปตามลำดับเวลาก่อนหลัง  วิธีนี้ผู้อ่านจะเข้าใจเรื่องได้ง่าย”
                คำกล่าวของ ชนะ  วชกุล ที่ผมยกมาอ้างถึงนั้น  เมื่อนำมาพิจารณาผลงานของปิ่น  ก็จะเห็นภาพชัดเจนดังนี้
                1. เกี่ยวกับรายละเอียด  ปิ่นให้รายละเอียดเรื่องกระรอกน้อยของฉันมากพอที่ผู้อ่านจะรู้ได้ว่า  ปิ่นได้กระรอกมาจากไหน  เมื่อไร  เขาตั้งชื่อว่าอย่างไร  เขามีวิธีการเลี้ยงดูแบบใด  และสุดท้ายเกิดอะไรขึ้นกับเขา  เหตุการณ์เหล่านั้นเกิดขึ้น ณ ที่ใด  เมื่อใด  ปิ่นเขียนเล่าละเอียดมาก  อ่านเข้าใจเรื่องได้ง่าย
                2. กลวิธีการเขียน  ปิ่นเขียนเรื่องแบบการเขียนเรื่องสั้น  ความหมายของเรื่องสั้นนี้  เอช.จี.เวลส์ (H.G.Wells) (อ้างถึงในชนะ  วชกุล. 2524)  โดยให้คำนิยามว่า
                “เรื่องสั้นคือ  เรื่องอ่านเล่นที่อาจจะอ่านกันจบภายใน 1 ชั่วโมง  และเรื่องนั้นเต็มไปด้วยชีวิตจิตใจ  ความรื่นรมย์  ไม่จำกัดว่าเป็นเรื่องที่จะต้องมีตัวมีตน  ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องคนหรือไม่ใช่คน  เรื่องไม่จำเป็นต้องซาบซึ้งเข้าไปในความคิดอย่างเดียว  และไม่จำเป็นต้องสนุกสนานเพียงผิวเผิน  เรื่องอาจจะน่าสะพรึงกลัว  น่าสังเวช  และอาจจะน่าหัวเรากันน้ำหูน้ำตาไหล  หรืออาจจะสดสวยสุกใสสดชื่น  เรื่องสั้นประกอบด้วยสภาพเหล่านี้แล้วก็อาจจะอ่านกันได้ระหว่าง 15 นาทีถึง 50 นาที”

                เพื่อจะได้มองเห็นภาพของคำว่า  เรื่องสั้น  ชัดเจนขึ้น  ขอนำ  “ลักษณะของเรื่องสั้น”  ที่ ชนะ  วชกุล. (2524) กล่าวถึงไว้ว่า  เรื่องสั้นมีลักษณะดังนี้
                “1. มีโครงเรื่อง  หมายถึงกลวิธีในการแสดงพฤติกรรมในลักษณะขัดแย้งกันในระหว่างตัวละคร  หรือขัดแย้งกับตัวเอง  หรือขัดแย้งกับสังคม  หรือขัดแย้งกับธรรมชาติ  เป็นจุดเริ่มต้นของความยุ่งยากให้ผู้อ่านฉงน  อยากรู้ว่าจะเกิดมีอะไรต่อไป  พยายามทำให้ผู้อ่านสนใจใคร่รู้  แล้วดำเนินเรื่องให้จบลงด้วยผลอย่างใดอย่างหนึ่ง
2. มีจุดหมายของเรื่องอย่างเดียวกัน  และมีผลอย่างเดียวกัน  คือผู้เขียนจะต้องเสนอแนวคิดหรือแก่นเรื่อง (Theme) เพียงอย่างเดียว  อาจจะเป็นทรรศนะหรือความคิดแง่ใดแง่หนึ่งของชีวิตเพียงอย่างเดียว  เช่น  “ความไม่แน่นอนของชีวิตมนุษย์”  ผู้เขียนจะต้องเขียนชะตาคนเพียงคนเดียว
                3. มีตัวละครน้อย  ตัวละครที่แสดงบทบาทสำคัญที่สุดควรมีตัวเดียว  แล้วมีตัวละครประกอบอื่นๆ  ที่เกี่ยวข้องกับตัวเอก  เพื่อให้เรื่องดำเนินอย่างรวดเร็ว  รวบรัด  โดยปกติไม่ควรมีตัวละครเกิน 5 ตัว  ซึ่งจะต้องสนับสนุนตัวเอกให้เด่นชัดขึ้นเท่านั้น
                4. ใช้เวลาน้อย  ระยะเวลาในการท้องเรื่อง  ไม่ควรใช้เวลานานกว่าจะจบเรื่อง  อาจมีระยะเวลาหนึ่งวัน  หากใช้เวลานานอาจทำให้การติดต่อสืบเนื่องของเหตุการณ์ขาดตอนเรื่องไม่ชัดเจน  ยิ่งใช้เวลาน้อยเท่าใด  เรื่องยิ่งชัดขึ้น
                5. มีขนาดสั้น  การเขียนเรื่องสั้นจะพรรณาบรรยายยืดยาดไม่ได้  ต้องใช้คำอย่างประหยัด  มุ่งตรงไปตรงมา  ความสั้นมักจะกำหนดเป็นคำ  กล่าวกันว่า  ขนาด 4,000 ถึง 5,000 คำ  เป็นเรื่องเสนอพอเหมาะ (4 ตัวอักษรคิดเป็น 1 คำ)  ในเรื่องของจำนวนคำนี้มิได้จำกัดลงไปอย่างแน่นอน  บางเรื่องอาจใช้ 1,500 คำ  แต่บางเรื่องอาจใช้ถึง 7,000 คำ  หรือ 10,000 คำ  จึงทำให้มีการเรียกชื่อ  เรื่องสั้นที่สั้นกว่าธรรมดาว่า  “เรื่องสั้น-สั้น”  (Short-Short Story) และเรื่องที่มีขนาดยาวกว่าธรรมดา  เรียกว่า  “เรื่องสั้นขนาดยาว”  (Long Short Story) 
                6. มีความกระชับรัดกุมทุกๆ ด้าน  ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินเรื่อง  การพรรณาฉาก  บทสนทนา  ฯลฯ  ผู้เขียนต้องอาศัยกลวิธีประหยัดคำ  คือ  ใช้คำให้น้อย  แต่ได้ความมากที่สุด  เนื้อหาของเรื่องต้องแน่นและรสของเรื่องอยู่ในสภาพที่เข้มที่สุด
 
                มาถึงตรงนี้ก็พอที่จะมองเห็นภาพงานของปิ่นได้แล้วว่า  เรื่อง “กระรอกน้อยของฉัน” นั้น  ปิ่นเขียนจากประสบการณ์จริงที่เกิดขึ้นกับปิ่น  โดยใช้วิธีการเล่าเรื่อง  แบบเรื่องสั้น-สั้น (Short-Short Story)  เพราะเรื่องราวที่ปิ่นเขียนเล่านั้น  ผู้อ่านอ่านภายในเวลาไม่เกิน 10 นาทีก็จบ  การบรรยายไม่ยืดยาดใช้คำประหยัด  ตัวละครที่แสดงบทบาทสำคัญมีเพียงปิ่น (ผู้เล่า) กับกระรอกน้อย  ปิ่นวางโครงเรื่องที่เห็นลักษณะความขัดแย้งในตัวของปิ่นเอง  กลวิธีการเล่าเรื่องแบบนี้เป็นกลวิธีการเล่าแบบใช้บุรุษที่หนึ่งซึ่งเป็นตัวละครสำคัญในเรื่องเป็นตัวเล่า  โดยใช้คำแทนตัวผู้เล่าว่า  “ฉัน”  และมีจุดหมายของเรื่องหรือแก่นเรื่อง (Theme)  ที่สอดรับกับพุทธพจน์ที่ว่า  “ที่ใดมีรักที่นั่นมีทุกข์”  ถึงแม้ปิ่นจะไม่เขียนออกมาตรงๆ  แต่เธอเขียนบอกเป็นนัยๆ ว่า  “ฉันคิดได้ว่า  ความรักความเสียใจนั้นเป็นอย่างไร”
               
                สำหรับกลวิธีการเล่าเรื่องนั้น  ทองสุข  เกตุโรจน์  (2519)  ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า
                กลวิธีในการเล่าเรื่องแบ่งออกได้เป็น 4 วิธีดังนี้
                1. ใช้บุรุษที่หนึ่งซึ่งเป็นตัวละครสำคัญในเรื่องเป็นผู้เล่า  โดยใช้บุรุษที่หนึ่งคือ  “ผม”  “ฉัน”  ”ดิฉัน”  “ข้าพเจ้า”  และ  “เรา”  อันเป็นตัวละครสำคัญเล่าเอง  เป็นที่นิยมใช้กันมากพอสมควร  ข้อดีที่เห็นได้ชัดเจนในการใช้วิธีนี้คือ  ทำให้ผู้อ่านเห็นจริงเห็นจัง  เพราะเชื่อว่าเรื่องเล่านั้นเกิดขึ้นแก่ผู้ประพันธ์จริงๆ
                2. ใช้บุรุษที่หนึ่งซึ่งเป็นตัวละครรองในเรื่องเป็นผู้เล่า  ตัวละครรองที่เป็นผู้เล่านี้  มักจะเป็นผู้ที่ใกล้ชิดกับตัวละครสำคัญ  เพื่อจะได้เล่าเรื่องราวหรือแม้แสดงความคิดเห็นที่ตนได้สังเกตหรือได้ฟังมาจากตัวละครสำคัญได้   การใช้วิธีที่สองนี้ดีกว่าวิธีที่หนึ่ง  ตรงที่ตัวละครรองซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้เล่า  สามารถบรรยายการกระทำ  อุปนิสัยใจคอ  คุณงามความดีของตัวละครสำคัญ  ซึ่งถ้าหากตัวละครสำคัญนั้นเป็นผู้เล่าเสียเอง  ก็ไม่สามารถบรรยายออกมาเป็นเช่นนั้นได้  นอกจากนี้ตัวละครรองยังสามารถเล่าเรื่องของตัวละครอื่นๆ  ตามที่ตนได้ยินได้ฟังได้เห็นมาได้ทุกตัวทุกแง่ทุกมุม  ผู้เล่าประเภทนี้เหมือนกับคนกลางที่ได้ยินได้ฟังได้เห็นการสนทนา  การทะเลาะวิวาท  ฯลฯ  ของบุคคลอื่น  แล้วนำเรื่องที่ตยได้ยินได้เห็นนั้นไปเล่าให้คนอื่นๆ ฟังอีกต่อหนึ่ง
                3. ผู้ประพันธ์ในฐานะที่เป็นผู้รู้แจ้งเห็นจริงทุกอย่างเป็นผู้เล่า  วิธีนี้เป็นวิธีที่นิยมกัน  เพราะผู้ประพันธ์สามารถเล่าเรื่องของตัวละครได้ทุกตัว  ไม่ว่าตัวละครนั้นๆ จะคิดเรื่องอะไร  รู้สึกอย่างไร  และทำอะไรทั้งในที่ลับและในที่แจ้ง  ผู้ประพันธ์อาจจะเปิดเผย  ความคิดความอ่านของตัวละครทั้งหมดก็ได้  หรือปิดบังความคิดความอ่านนั้นไว้บางส่วน  หรืออาจจะปิดบังไว้สักระยะเวลาหนึ่งแล้วค่อยเปิดเผยเมื่อถึงเวลาที่ต้องการก็ได้  ยิ่งกว่านั้นบางคราวผู้ประพันธ์อาจจะสอดแทรกคำพูดของตนเข้ามา  หรืออาจให้ความเห็นเกี่ยวกับความประพฤติของตัวละครบางตัวก้ได้
                4.  ผู้ประพันธ์ในฐานะที่เป็นผู้สังเกตการณ์เป็นผู้เล่า  หน้าที่ของผู้ประพันธ์ในวิธีที่สี่นี้  ก็คือรายงานเฉพาะสิ่งที่ตนเห็นหรือได้ยินได้ฟังได้สังเกตการสนทนาหรือการกระทำของตัวละครเท่านั้น  ไม่อาจทราบความรู้สึกและความคิดของตัวละครได้เลย  ผู้ประพันธ์มีหน้าที่ประหนึ่งผู้สังเกตการณ์  รูปของเรื่องสั้นหรือนวนยายที่ใช้กวลวิธีนี้จึงคล้ายกับบทละครมาก...”
 
                ทั้งหมดที่กล่าวมานั้นเป็นเพียงทฤษฎีหรือหลักการที่ผมอาศัยเพียงแค่เป็นเครื่องบอกทางว่า  ปิ่นเดินมาได้แค่ไหน  เพียงใด  มีอะไรที่ผทพบเห็นสิ่งที่ซ่อนลึกในตัวเรื่องราวที่ปิ่นเขียนบ้าง  เพื่อจะช่วยเหลือให้ปิ่นเดินไปข้างหน้าได้อย่างถูกทาง
                ผมมองเห็นภาพงานของปิ่น  ดั่งที่ได้เขียนมาแล้วข้างต้น  ผมนึกต่อไปว่า  ผมจะช่วยเหลือปิ่นได้อย่างไรบ้าง  ผมมีสูตรการทำงานของผมว่า
                                อ่าน  (งานของเด็กให้) ออก
                                บอก (สิ่งที่อ่าน) ได้
                                ใช้เป็น  (เครื่องมือการชี้แนะ)
                                เห็นแวว  (เห็นศักยภาพของผู้เรียนคนนั้น)
               
                ผมสำนึกอยู่เสมอว่า  หน้าที่ของครูคือ  ผู้ช่วยเหลือในการพัฒนาผู้เรียนเป็นรายบุคคล  ผมมีความเชื่อว่าไม่มีเด็กโง่  แต่มีเด็กที่ไม่เก่งไปทุกอย่าง  เด็กแต่ละคนจะมีความดี  ความเก่ง  ความถนัดอย่างน้อยหนึ่งอย่าง  และอย่างหนึ่งที่เขาถนัดนั้น  ถ้าได้รับการพัฒนาเขาจะเก่ง  แล้ว้าเขาเก่งอย่างหนึ่งอย่างใด  เขาก็จะพัฒนาตัวเองให้เก่งเพิ่มขึ้นได้ในสิ่งนั้นหรือสิ่งที่ใกล้เคียงกัน
                การอ่านงานของเด็กจนทะลุเข้าไปในมิติของเด็กคนนั้น  จะใช้ให้ครูมีข้อมูลในการใช้เป็นเครื่องมือชี้แนะผู้เรียนให้พัฒนาต่อไปตามแววที่เห็น  แล้วก็บอกให้เด็กรู้ตามสิ่งที่เราพบเห็นพร้อมกับกระตุ้น  หรือ  เร้า  ให้ผู้เรียนมีความมั่นใจที่จะฝึกฝนต่อไป
                ผมใช้วิธีแสดงความคิดเห็นของผมลงไปในส่วนที่ว่างของงานเด็ก  หรือเพิ่มหน้ากระดาษให้ในกรณีที่แสดงความคิดเห็นยาว  การเขียนข้อความสั้นๆ นั้นเพื่อเร้าใจผู้นั้นให้คิดทำงานต่อ  แต่การเขียนแสดงความคิดเห็นยาวนั้นเพื่อ  บอกสิ่งที่พบเห็นจากการอ่านงานของเขา  แล้วชี้แนะแนวทางให้เขาเดินต่อไป
                กับงานของปิ่น  ถ้าผมเขียนสั้นๆ  ผมจะเขียนว่า

ดีใจที่ได้อ่านเรื่อง “กระรอกน้อยของฉัน”  ปิ่นเขียนเล่าเรื่องจากประสบการณ์เก่งมาก  ครูเชื่อว่า  ปิ่นสามารถเขียนเรื่องแบบนี้ให้ครูอ่านได้อีก  ครูคอยอ่านเรื่องต่อไปของปิ่นอยู่นะ  

                ถ้าจะเขียนแบบยาวๆ ผมจะเขียนว่า

เรื่อง “กระรอกน้อยของฉัน”  ครูอ่านแล้วชอบมาก  ชอบตรงที่ปิ่นเขียนแบบ “เล่าเรื่องจากประสบการณ์จริง”  โดยที่ปิ่นนำเรื่องที่ปิ่นพบเห็นด้วยตนเอง  มาเขียนเล่าให้ผู้อ่าน  อ่านด้วยภาษาง่ายๆ  ตรงไปตรงมากะทัดรัด  แต่สามารถรู้เรื่องที่อ่านนั้นได้อย่างดี  นี่คือ  ความเก่งของปิ่น  โดยเฉพาะวิธีการเขียนเรื่องของปิ่นเรื่องนี้  ปิ่นเขียนแบบเขียนเรื่องสั้น-สั้น (Short-Short Story) ซึ่งผู้อ่านสามารถอ่านจบภายในเวลา 5-10 นาที  จุดเด่นของเรื่องที่ปิ่นเขียนอีกอย่างหนึ่งคือ  ปิ่นแทรกคุณธรรมเข้าไปในเรื่อง  โดยไม่ได้บอกเล่าอย่างตรงไปตรงมา  แต่ผู้อ่านอ่านแล้วต้องคิดและคิดได้หลายแง่มุมกับข้อความที่ปิ่นเขียนว่า “จังหวะนั้นมันทำให้ฉันคิดได้ว่า  ความรัก  ความเสียใจมันเป็นอย่างไร”  นี่คือเสน่ห์ของเรื่องนี้
            ปิ่นลองชวนคุณพ่อออกเดินตามถนนในหมู่บ้านเวลาเช้ามืด  พบเห็นอะไรแล้วนำมาเขียนเล่าให้เพื่อนๆ อ่าน  ครูก็คอยอ่านด้วย  หรือปิ่นไปเที่ยวที่ไหนก็ตามลองนำมาเขียนเล่าเรื่องราวเหล่านั้นให้เพื่อนๆ อ่าน  ครูเชื่อว่าหนูเขียนได้ดี  ครูคอยอ่านเรื่องของเธออยู่นะ  


เอกสารอ้างอิง
ชนะ       เวชกุล. การเขียนสร้างสรรค์. กรุงเทพฯ  สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์ 2524
ทองสุข  เกตุโรจน์. การเขียนแบบสร้างสรรค์. กรุงเทพฯ มหาวิทยาลัยรามคำแหง 2519
 

by Suppakrit on Nov 16, 2012

Posted in ไม่มีหมวดหมู่

ป้ายคำค้น
No tags found

ในหมวดเดียวกัน
ป้ายคำค้นเดียวกัน
No related posts found
โปรเจ็กต์ของผู้แต่ง