ลูกผู้ชายบ้านเรียน การขึ้นทะเบียนทหารและการเกณฑ์ทหาร (และรด.)
ติดต่อลงโฆษณา
Leaderboard in Content 1st
Fixed 1,000 baht/month
Slot 300 baht/month
สำหรับชายไทยแล้ว มีหน้าที่ต้องรับใช้ชาติด้วยร่างกายที่สมบูรณ์อันมีพละกำลังตามช่วงอายุที่เหมาะสมด้วยการเข้ารับราชการทหาร ..เรื่องนี้สำคัญและหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้ว่าหลายคนจะมองว่า "รับใช้ชาติด้วยวิธีอื่นก็น่าจะได้" นั้นเป็นได้เพียงความคิดครับ. เพราะไม่มีทหารประเทศไหนในโลกเลยที่แก่หง่อม ถือปืนแทบไม่ไหวอย่างนั้น จะปกป้องประเทศได้ดีเท่าทหารในวัยหนุ่มอย่างแน่นอน. การเป็นทหารนั้นโดยหลักแล้วที่ต้องเกณฑ์เพราะต้องการร่างกายของคุณ ..ไม่ใช่สมองหรือทักษะด้านอื่นที่เอาไปแบกปืนหรือสู้รบไม่ได้ ..จึงเป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจใ้ห้ดี ๆ. ส่วนการยกเว้นการเกณฑ์ทหารด้วยการเรียนรด.นั้น มองตามจริงคือการเข้าฝึกแบบทหารก่อนอายุเหมาะสม ไม่ต่างกับการเกณฑ์ทหารด้วยการสมัคร เพียงแต่สามารถใช้ชีวิตด้านอื่นไปได้ในขณะที่ฝึกรด.เป็นเวลา 3 ปีเท่านั้นเองครับ. ขอให้เลือกตามความเหมาะสมของร่างกายและสถานการณ์เฉพาะแต่ละคนจะดีกว่า
ข้อมูลทั้งหมดนำมาและเรียบเรียงจากเว็บไซต์ของหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน http://www.tdd.mi.th/
และเว็บไซต์ของกระทรวงกลาโหม http://www.mod.go.th/misc/officer1.htm
ซึ่งเน้นข้อความ-จัดหน้าเพิ่มเติมเพื่อให้อ่านเข้าใจง่ายขึ้นครับ พร้อมทั้งข้อสังเกตจากประสบการณ์ส่วนตัวของผู้เขียน

สด.9 (ลงทะเบียนทหารกองเกิน) (คนส่วนใหญเรียก "ขึ้นบัญชีทหาร")

- บุคคลที่มีสัญชาติไทยเมื่อ อายุ 17 ปี บริบูรณ์ ย่างเข้า 18 ปี ต้องไปลงบัญชีทหารกองเกิน ตามภูมิลำเนาของบิดา
- ถ้าบิดาถึงแก่กรรม ให้ลงบัญชีทหารกองเกินตามภูมิลำเนาของมารดา
- ถ้าบิดา มารดา ถึงแก่กรรมให้ลงบัญชีทหารกองเกินตามภูมิลำเนาของผู้ปกครอง (ผู้อุปการะโดยเอกสารทางกฎหมาย)
- และเมื่อลงบัญชีทหารกองเกินเสร็จแล้วจะได้รับใบสำคัญ (แบบ สด.9)

โดยนำหลักฐานไปลงบัญชีทหาร ดังนี้
 
1. บัตรประจำตัวประชาชน
2. สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน
3. สูติบัตร (ถ้ามี)

* อายุ 17 ปี บริบูรณ์ หมายถึงครบ 17 ปีเต็มแล้วและเข้าสู่ปีพ.ศ.ที่ขึ้นอายุ 18. จากประสบการณ์พบว่านายทะเบียนหรือสัสดีทหารมักนับตามปีพ.ศ.เมื่อขึ้นเดือนมกราคมของปีนั้น ๆ (ไม่ใช่ชนวันและเดือนเกิดอย่างที่หลายคนเข้าใจ แม้กระทั่งเจ้าหน้าีที่แผนกงานอื่น ๆ ในสำนักงานเขตหรือที่ทำการอำเภอเองก็ยังมองไม่ตรงกันครับ) ..และพบว่าบางท้องที่มีการยึดเอาปีที่เข้าอายุ 17 แทนที่จะเป็นปีที่ขึ้นอายุ 18. ซึ่งต่างกับกรณีเกณฑ์ทหารที่ว่ากันปีที่ขึ้นอายุ 21 เลย ..การขึ้นทะเบียนทหารนี้จึงต้องควรลองติดต่อดูตั้งแต่ปีที่เข้าอายุ 17 ครั้งหนึ่งก่อนครับ เรื่องนี้ยังมีความคลาดเคลื่อนทางวิจารณญาณของเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในแต่ละท้องที่อยู่ครับ.

สด.35 (หมายเรียกเข้ารับราชการทหาร) (การรับหมายเกณฑ์)

- บุคคลที่ได้ลงบัญชีทหารกองเกินไว้แล้ว (มีใบสด.9 แล้ว) เมื่อ อายุ 20 ปีบริบูรณ์ ย่างเข้า 21 ปี ต้องไปรับหมายเรียกเข้ารับราชการทหาร (แบบ สด.35) ภายในปี พ.ศ. นั้น ๆ (ที่ขึ้นอายุ 21) (อ่านหมายเหตุด้านล่างประกอบนะครับ เพราะข้อกำหนดตามเอกสารราชการเขียนไว้คลุมเครืออยู่มาก)
- กรณีมอบอำนาจให้ผู้อื่นไปรับหมายเรียกแทน จะต้องมีหนังสือรับมอบอำนาจ และนำหลักฐานไปยื่นต่อนายอำเภอ/ผู้อำนวยการเขต/ปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ ดังนี้

 

 

1. ใบสำคัญ (สด.9)
2. บัตรประจำตัวประชาชน

* กรณีไปรับหมายเรียกนี้ ให้รับปีพ.ศ.ที่อายุครบ 20 ปีครับ (ไม่ปฏิบัติคลุมเครือเท่าสด.9) เพื่อที่เมื่อขึ้นพ.ศ.ถัดไป (อายุ 21 ปี) จะได้เข้ารับการตรวจเลือกตามสถานที่ที่ได้มีการระบุไว้ ซึ่งกำหนดการก็มักจะเป็นเดือนเมษายนของทุกปีนั่นเอง.

สด.43 (เอกสารผ่านการเกณฑ์ทหาร)

จะได้รับก็ต่อเมื่อไปเข้ารับการตรวจเลือกจริงเท่านั้นครับ. ปรกติกำหนดให้จัดการตรวจเลือกในช่วงวันที่ 1 - 11 เมษายน ของทุกปี. โดยวันตรวจเลือกให้นำเอกสารดังต่อไปนี้มายื่น..

1.สด.9
2.สด.35
3.บัตรประจำตัวประชาชน
4.ประกาศณียบัตร หรือหลักฐานทางการศึกษา

การสมัครเป็นทหารโดยความสมัครใจ จะลดเวลาเข้าประจำการลง "ครึ่งหนึ่ง" เลยทีเดียวครับ สามารถดูรายละเอียดเรื่องเวลาประจำการหน่วยต่าง ๆ ได้ที่ www.mod.go.th/misc/officer1.htm 

* แต่ละปีมีผู้สนใจสมัครเข้าประจำการมากมายครับ ส่วนการจับใบดำ/ใบแดงนั้น จะมีลำดับความสำคัญของกลุ่มผู้เข้ารับการตรวจเลือก ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้คัดแบ่งกลุ่มเอาไว้ดังนี้ครับ

- กลุ่มที่ 1 เรียกว่า "คนได้ขนาด". คือสูงตั้งแต่ 160 ซ.ม.ขึ้นไป ขนาดรอบตัว 76 ซ.ม.ขึ้นไป
- กลุ่มที่ 2 เรียกว่า "คนขนาดถัดรอง". คือสูงตั้งแต่ 146 - 159 ซ.ม. ขนาดรอบตัว 76 ซ.ม.ขึ้นไป ..ซึ่งในกลุ่มนี้ หากมีคนในกลุ่มที่ 1 คัดเลือกได้ครบตามจำนวนที่กำหนดไว้ก่อน จะได้รับการปล่อยตัว ไม่ต้องเข้ารับการจับสลากใบดำ/ใบแดง
- กลุ่มที่ 3 เรียกว่า "คนไม่ได้ขนาด". คือสูงไม่ถึง 146 ซ.ม. หรือ ขนาดรอบตัวไม่ถึง 76 ซ.ม.อย่างใดอย่างหนึ่ง ..กลุ่มนี้ไม่ต้องรอผลของกลุ่มที่ 1 และ 2 แต่อย่างใด เจ้าหน้าที่จะคัดออกไว้ก่อนเลยครับ

เมื่อเสร็จสิ้นพิธีการจับสลากใบดำ/ใบแดงแล้ว ทุกกลุ่มจะได้รับใบรับรองผลการตรวจเลือก สด.43 ในขั้นตอนนี้. ซึ่งผู้ที่ต้องเข้าประจำการจะได้รับ สด.40 จากเจ้าพนักงานของอำเภอเพื่อใช้ยื่นในวันเข้าประจำการอีกครั้งหนึ่งตามกำหนดการจากนายอำเภอเป็นผู้กำหนดให้. ส่วนผู้ที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเข้าประจำการนั้น ก็สามารถกลับบ้านได้เลยครับ

* การผ่อนผันนั้น เหมาะกับผู้ที่กำลังอยู่ในช่วงต่อเนื่องทางการศึกษาที่ไม่สามารถพักไว้ก่อนได้ โดยต้องแจ้งกับสถานศึกษาให้ส่งรายชื่อต่อสำนักงานว่าการจังหวัดที่เป็นภูมิลำเนาทหาร ซึ่งกรณีบ้านเรียนอาจไม่ต้องทำในส่วนนี้ เพราะบ้านเรียนไทยจัดการศึกษาได้ถึงม. 6 ..อายุผู้เรียนอาจจะพ้นเข้าช่วงอายุการเกณฑ์ทหารแล้วนั่นเอง ซึ่งจะเป็นลำดับของการศึกษาในมหาวิทยาลัยโดยปรกติ ก็สามารถแจ้งต่ออาจารย์ หรือหน่วยงานภายในของมหาวิทยาลัยได้เลยหากต้องการผ่อนผัน. และให้นำเอกสารที่ได้รับต่าง ๆ ไปยื่นในวันตรวจเลือกครับ. ซึ่งจะผ่อนผันได้จนถึงอายุ 26 ปีเท่านั้นก็ต้องเข้าตรวจเลือกในปีถัดไป และอนุญาตให้ผ่อนผันเฉพาะระดับปริญญาตรีเท่านั้นครับ.

ไม่ต้องห่วงสำหรับคนที่เป็นกังวลไม่อยากเป็นทหารนะครับ เพราะผู้สมัครและผู้ที่ร่างกายได้ตามเกณฑ์นั้นมีจำนวนค่อนข้างพอในแต่ละปี. และถ้าต้องเข้ากรมฯ จริง ๆ ระยะเวลาสูงสุดก็อยู่ที่ 2 ปี (ถ้าสมัครเหลือ 1 ปี) และไม่ใช่ว่าจะไม่สามารถกลับมาเยี่ยมบ้านได้ เค้ามีช่วงเวลาพักให้อยู่ครับ.

การเรียนรด. (3 ปี เพื่อที่จะไม่ต้องเกณฑ์ทหาร แต่จริง ๆ อาจเท่ากับต้องฝึกแบบทหารก่อนวัยอันควร..)

สำหรับนักเรียนบ้านเรียนไทยคงต้องอาศัยติดตามข่าวหรือติดต่อไปที่กรมการรักษาดินแดนเรื่องกำหนดการรับสมัครรด.ในแต่ละช่วงของปีครับ เว็บไซต์คือ www.tdd.mi.th ..ซึ่งเด็กในโรงเรียนจะได้รับการบอกจากครูครับ แต่ทราบมาว่าทางสมาคมบ้านเรียนไทยกำลังดำเนินการรายละเอียดตรงนี้อยู่ ก็อดใจรอกันสักครู่ครับคงได้ทราบข่าวกัน. yes


by วีณาฑัต on Dec 26, 2012

Posted in คู่มือโฮมสคูล

ติดต่อลงโฆษณา
Medium Rectangle Sidebar 1st
Fixed 1,000 baht/month
Slot 300 baht/month

ป้ายคำค้น
No tags found

ในหมวดเดียวกัน
ป้ายคำค้นเดียวกัน
No related posts found
โปรเจ็กต์ของผู้แต่ง