คำแนะนำสำหรับผู้ปกครองที่อยากทำโฮมสกูลแล้วไม่ได้ทำ


ผมเชื่อว่ามีหลายคนที่อยากทำโฮมสกูลให้ลูกแต่แล้วด้วยข้อจำกัดอะไรบางอย่างเลยไม่ได้ทำ และมีอีกหลาย ๆ คนที่ติดตามการเรียนรู้ของเด็ก home school แล้วมีความรู้สึกว่า ไม่เห็นทำอะไรมากเลยแค่ไปเที่ยวก็บอกว่าเรียนรู้แล้ว นับก้อนหิน ไปซื้อของก็บอกเรียนคณิตศาสตร์ แบบนี้เราก็ทำได้เหมือนกันนี่น่า ผมก็ว่าใช่นะ คุณคิดถูกแล้ว จึงเป็นที่มาของเรื่องนี้ และนี่คือคำแนะนำของผม 
1) ใช้เวลาอยู่ในโรงเรียนให้น้อย หาโรงเรียนที่ชั่วโมงเรียนน้อย อยู่ใกล้บ้านเราจะได้ไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง เพื่อให้ลูกมีเวลาว่างมากขึ้น ถือว่าโรงเรียนเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ที่เราจัดให้ลูก เวลาที่เหลือลูกกับเราเป็นคนกำหนดการเรียนรู้ ดูอย่างโรงเรียนอินเตอร์หรือโรงเรียนในต่างประเทศ เรียนกันครึ่งวันหรือเรียนกันน้อยกว่าเรา แต่มีผลสัมฤิทธ์ที่ดีกว่า อันนี้ผมไม่ได้คิดไปเองนะครับ มีงานวิจัยบอก อ่านรายละเอียดได้ที่ http://tdri.or.th/seminars/educationreform ผมเดาว่าเพราะเรียนน้อยเด็กมีเวลาว่างมาก ได้ไปอ่านหนังสือหรือทำสิ่งที่ตัวเองสนใจเอง ซึ่งประเด็นนี้เดี๋ยวผมขยายความต่อในข้อ 3
 
2) ถ้าต้องไปต่างจังหวัดหรือสถานที่แปลก ๆ ที่พาลูกไปด้วยได้ แต่ตรงกับวันธรรมดาที่ลูกต้องไปโรงเรียนให้ลาเรียนเพื่อเรียนรู้โลกกว้างไปกับเรา ท่องไว้ว่าโรงเรียนเป็นระบบการเรียนรู้หนึ่งที่คุณได้จัดหาให้กับลูก อย่าให้มาเป็นนายคุณ แค่เปรียบเทียบให้ดีว่าทางไหนได้ประโยชน์กว่ากันก็ตัดสินใจตามนั้น อาจจะทำให้ลูกคุณไม่ใช่นักเรียนดีเด่นของโรงเรียน แต่เค้าได้การเรียนรู้ที่ดีที่สุดที่คุณมอบให้
 
3) เวลาว่างของลูกอาจจะต้องคิดมากกว่าเดิม ผมเข้าใจว่าพ่อแม่ที่สนใจอยากทำ Home school ให้ลูกส่วนเป็นเป็นพ่อแม่ที่สนใจทุ่มเทให้กับการเรียนรู้ของลูก ดังนั้นพอเสาร์อาทิตย์หรือวันหยุดก็จะจัดกิจกรรมการเรียนรู้ต่าง ๆ ให้อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะดนตรี กีพา แต่จากประสบการณ์ของตัวเอง การสังเกตุเด็ก home school คนอื่น จะพบกว่าหัวใจหรือแกนหลังที่กำหนดทิศทาง ตารางการเรียนรู้ของเด็ก homeschool เกิดขึ้นจากตัวเด็กเอง เกิดจากความสนใจของเค้า ดังนั้น ถ้าเราจัดตารางการเรียนรู้ทุกอย่างให้แล้ว เด็กก็อาจจะไม่มีความอยากเรียนรู้เรื่องอะไรอีก หรือกลายเป็นไปปิดกันความสนใจใคร่รู้ภายในของตัวเด็กเอง 
 
สิ่งที่พ่อแม่โฮมสกูลพบกันมากและสร้างความประทับใจให้อยากเดินทางสายนี้ต่อก็คือ การค้นพบว่าลูกสามารถเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วและมีความสุขจากสิ่งที่เค้าริเริ่มเอง จึงมีการแนะนำว่า ควรจะให้เด็กมีเวลาว่าง ๆ เบื่อ ๆ ด้วย เพราะสิ่งที่เค้าหยิบจับขึ้นมาเอง อัตราเร่งในการเรียนรู้มันมากมายกว่าการป้อนหลายเท่า ยิ่งถ้าไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีคนที่เป็นผู้เชี่ยวชาญแนะนำได้แล้วเด็กสนใจก็ยิ่งไปได้เร็วอีก คือเด็กอาจจะใช้เวลา 7 วันนั่ง ๆ นอน ๆ กว่าจะเริ่มความสนใจสิ่งใหม่ แต่เค้าอาจใช้เวลาเพียง 1 วันเรียนรู้สิ่งที่คนอื่นเรียนมา 7 วัน ประมาณว่าความสำคัญอาจจะอยู่ตอนบ่มมากกว่าตอนกิน ซึ่งในระยะยาว คนที่เรียนรู้ได้เร็ว และกำหนดสิ่งที่ตัวเองสนใจ รู้ว่าตัวเองอยากทำอะไร น่าจะได้เปรียบกว่า คนที่ไม่อยากรู้อะไรถ้าไม่ใช่หน้าที่ไม่ใช่หรือครับ

อีกด้านหนึ่งก็คือ หลุมพรางของการส่งลูกไปเรียนพิเศษต่าง ๆ นานา ก็คือลึก ๆ แล้วเราอาจจะอยากมีเวลาว่าง มีเวลาเป็นของเราในวันพักผ่อน อย่างน้อย ๆ การรอลูกเราก็ยังได้เล่น tablet อ่าน facebook อ่านหนังสือ ทำให้การส่งลูกไปเรียนพิเศษเป็นข้ออ้างของเรา บางทีเราอาจต้องนึกถึงกิจกรรมที่เราและลูกสามารถมีความสุขร่วมกันได้ การที่ลูกได้ทำกิจกรรมที่พ่อแม่สนใจไปพร้อม ๆ เราเค้าจะสามารถเรียนรู้จากเราได้มาก เพราะเราอินกับมัน การถ่ายทอดจะออกมาอย่างเป็นธรรมชาติและน่าสนใจมากสำหรับเค้า  
 
4) สุดท้ายคงไม่มีอะไรมาก คือเป็นตัวของตัวเอง ยืนยันในความคิด เป็นกังวลให้น้อยกับการเปรียบเทียบจากคนรอบข้าง ขอเตือนว่าถ้าทำได้ดี ไปสักพักลูกคุณอาจจะขอให้คุณทำ homeschool ก็เป็นได้ อย่าลืมว่าช่วงปิดเทอมนะยาวนานพอที่ลูกจะชอบการเรียนรู้ที่คุณจัดให้ ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้นคุณกับลูกอาจจะพร้อมแล้วสำหรับการทำบ้านเรียน
 
 
บางคนอาจจะเห็นว่าเสนอแบบนี้ ดูไม่ให้ความสำคัญกับโรงเรียน แต่จริง ๆ แล้วสิ่งเหล่านี้น่าจะเป็นสิ่งที่โรงเรียนต้องการ เพราะหลาย ๆ ครั้งโรงเรียนอยากให้ผู้ปกครองใส่ใจลูกของตนเองมากกว่าที่จะฝากความหวังไว้ที่โรงเรียนแต่เพียงอย่างเดียว ทำให้ลดแรงกดดัน ความคาดหวังต่อโรงเรียน 
 
ความคาดหวังของเรากับความคาดหวังของโรงเรียนที่มีต่อลูกย่อมไม่เหมือนกันทั้งหมด ย่อมมีสิ่งที่แตกต่างออกไปตามแนวทางของแต่ละบ้าน แต่ละโรงเรียน ถ้าเราสามารถเข้าใจสิ่งที่โรงเรียนสามารถจัดให้กับลูกเราได้ เราก็สามารถวางแผนจัดการศึกษาให้กับลูกในส่วนของเราได้ แนวทางก็จะเป็นไปตามที่เราต้องการมากขึ้น มากกว่าที่จะคอยแต่ฝากความหวังและกดดันโรงเรียนให้เป็นไปตามที่เราต้องการ
 
ผมคิดว่าเพียงการปรับเปลี่ยนมุมมองของเรา่ที่มีต่อโรงเรียน จะช่วยให้การศึกษาของลูกเราเปลี่ยนไปอย่างมากมาย คือ ทุกวันนี้เราเผลอคิดไปว่าโรงเรียนเป็นผู้จัดการศึกษาให้กับลูกเรา ซึ่งถ้าเราปรับมุมมองใหม่ว่า "ครอบครัวเป็นผู้จัดการศึกษาให้กับลูกโดยมีโรงเรียนเป็นผู้ช่วย หรือเป็นส่วนหนึ่งในระบบที่เราออกแบบไว้" เท่านี้หน้าที่หรือการปฎิบัติตัวของเราต่อการเรียนรู้ของลูกก็จะแตกต่างไปจากเดิม มันจะทำให้เราตื่นตัวที่จะรู้จักเข้าใจลูกให้มากขึ้นเพื่อที่เราจะสร้างสรรค์การเรียนรู้ที่ดีให้กับลูก
 
 
 
 

by Patai on May 09, 2014

Posted in ไม่มีหมวดหมู่

ป้ายคำค้น
No tags found

ในหมวดเดียวกัน
ป้ายคำค้นเดียวกัน
No related posts found
โปรเจ็กต์ของผู้แต่ง