เรียนเปียโนเด็กเล็ก เริ่มเมื่อไหร่ ยังไงดี
ติดต่อลงโฆษณา
Leaderboard in Content 1st
Fixed 1,000 baht/month
Slot 300 baht/month

การให้เด็กเรียนรู้ด้านดนตรีเป็นอีกหนึ่งศาสตร์ที่พ่อแม่สมัยใหม่ส่งเสริมให้ลูก ๆ ได้เรียน การเรียนเปียโนของลูกทำให้ผมได้ย้อนทบทวนแนวคิดที่เหมือนจะสวนทางกันของแนววอลดอร์ฟที่ไม่เร่งเด็ก กับ แนวอัจฉริยะสร้างได้ที่เน้นให้เด็กเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ตั้งแต่ยังเล็ก
  ผมเป็นคนหนึ่งที่นึกถึงเรื่องเรียนดนตรีของลูกตั้งแต่ลูกยังเล็ก ด้วยความที่ชอบฟังเพลง สะสมซีดี แต่เล่นเครื่องดนตรีไม่เป็น ถ้าใครที่ตามอ่านแนวคิดเกี่ยวกับการสร้างอัจฉริยะในเด็ก โดยเฉพาะหนังสือ "กว่าจะถึงอนุบาลก็สายเสียแล้ว” คงเข้าใจดีถึงความกังวลใจที่อยากจะให้ลูกเรียนนั้นรู้นี่เต็มไปหมดตั้งแต่ยังเล็ก ๆ หนังสือบอกเน้นว่าเป็นเวลาทองหากเลยช่วงนี้ไปแล้ว โอกาสการเรียนรู้อย่างรวดเร็วก็จะค่อย ๆ ลดลง ในขณะที่ถ้าไปอ่านงานแนววอลดอร์ฟก็แทบจะเข้าใจสวนทางกันอยากให้ลูกอยู่เฉย ๆ ไม่เร่งอะไรมากมาย วาดรูป เก็บกิ่งไม้ใบหญ้ามาจินตนาการเป็นของเล่นต่าง ๆ อย่างไม่มีขีดจำกัด เพื่อให้พลังของสมองและจินตนาการได้เติบโต ดูเหมือนสองแนวคิดจะขัดกันอย่างเลือกไม่ถูก แต่หลังจากลูกผ่านการเรียนรู้ภาษาและเริ่มต้นเรียนดนตรี ทำให้ผมเข้าใจแนวคิด 2 แนวนี้ได้มากขึ้น
 
ในความเห็นผม ภาษาและดนตรีมีความใกล้กันมาก คือทั้งภาษาและดนตรีคือการเชื่อมโยงการฟังสู่การสื่อสารผ่านเสียง แต่ว่าการส่งเสียงของภาษานั้นประมาณ 1.5 – 3 ขวบร่างกายก็เริ่มพร้อมแล้วที่จะพูดออกมา แต่กับเครื่องดนตรีต้องรอความพร้อมของร่างกายมากกว่ากว่าที่เด็กจะใช้ร่างกายกับเครื่องดนตรีได้อย่างคล่องแคล่ว
 


ผมใช้แนวทางสองภาษากับลูกคือ พูดภาษาอังกฤษตั้งแต่ลูกได้อายุขวบกว่ามาตลอด ปัจจุบันลูกมีแนวโน้มที่จะใช้ภาษาอังกฤษได้ดีกว่าผม ทั้งสำเนียงและสำนวน ซึ่งช่วงเวลาที่ผ่านมาผมได้ยินแนวคิดหนึ่งเสมอว่าภาษาที่สองควรจะ “สอน” เมื่อภาษาแม่เข้มเข็ง พร้อม ๆ กับเรื่องเด็กควรจะเริ่มเรียนวิชาการเมื่อเข้า 7 ขวบ ซึ่งเข้าใจว่าแนวคิดเหล่านี้มาจากความคิดรูดอล์ฟ สไตเนอร์ (แนววอลดอร์ฟ) ว่าหลังจากเด็กผลัดฟันจะเข้าสู่อีกช่วงของชีวิตซึ่งพร้อมแล้วสำหรับ “การเรียน” ซึ่งในวัยที่เล็กกว่านั้นเป็นช่วงของการเลียนแบบ
 
          “ระหว่างช่วงเจ็ดปีแรกคือตั้งแต่แรกเกิดจนถึงช่วง ผลัดฟัน เด็กจะอยู่ในโลกของการเลียนแบบ... ...ในขั้นนี้เด็กยังเล็กเกินไปที่จะได้รับการศึกษาอย่างเป็นทางการไม่ว่ารูปแบบ ใดก็ตาม  มันสร้างความเจ็บปวดให้กับข้าพเจ้าเมื่อทราบว่าหกขวบถูกกำหนดให้เป็นเกณฑ์ อายุในการเข้าเรียนอย่างเป็นทางการ  เด็กไม่ควรเข้าโรงเรียนก่อนปีที่เจ็ดของชีวิต” (จาก http://www.fahkwang.com/waldorfthailand.php)
 
          ส่วนแนวคิดอีกด้านขอยกตัวอย่างหนังสือกว่าจะถึงอนุบาลก็สายเสียแล้ว หัวใจหลักของหนังสือกล่าวประมาณว่า เด็กเล็กมีศักยภาพที่จะเรียนรู้ได้อย่างมากมายกว่าที่เราคิด และสามารถเรียนรู้ จดจำอะไรได้มากมายตั้งแต่เรื่องภาษาหลาย ๆ ภาษา เสียงดนตรี ต่าง ๆ จึงควรส่งเสริมให้เด็ก “เรียนรู้” สิ่งเหล่านี้ตั้งแต่เล็ก ๆ
 
          สำหรับพ่อแม่มือใหม่นี่ทำเอาเครียดได้เลยนะครับ จะเชื่อใครดี แล้วเราจะเอายังไง
          สำหรับผมมันเป็นเรื่องน่าเสียดายมากที่พ่อแม่จะได้อ่านและเดินตามความคิดใดความคิดหนึ่งเท่านั้น เพราะผมคิดว่าทั้งสองแนวพูดถูกในบริบทของตัวเอง ผมเคยยึดถือแนวคิดวอลดอร์ฟมาก่อนในลูกคนแรกและมาเอาด้วยกับกว่าจะถึงอนุบาลก็สายเสียแล้วในลูกคนที่สอง
 
          คำแนะนำของผมคืออยากให้จับหรือทำความเข้าใจให้ดีกับคำว่า “เรียนรู้” “การสอน” “การเรียน” เชื่อว่าเราคงคุ้นเคยกับ การเรียน – การสอนมากกว่า คือ มีครูมาสอน ๆ ๆ เราก็เรียน ๆ ๆ รู้หรือเปล่าอีกเรื่องหนึ่ง ส่วนการเรียนรู้มันกว้างกว่านั้น แม้เราจะปล่อยเด็กอยู่ที่บ้าน หากแต่มีสภาพแวดล้อมที่ดี เอื้อต่อการเรียนรู้ มีผู้ใหญ่ที่เป็นแบบอย่าง แม้เราไม่ต้องทำอะไร เด็กสามารถเรียนรู้เรื่องต่าง ๆ จากสิ่งแวดล้อมรอบตัวอยู่ตลอดเวลา นี่คือการเรียนรู้ จะเกิดจากการสอนก็ได้ สภาพแวดล้อมรอบตัวก็ได้
 
สไตเนอร์ / วอลดอร์ฟพูดถูกในเรื่อง “การสอน”

ผมใช้แนวคิดของ "กว่าจะถึงอนุบาลก็สายเสียแล้ว” จากหนังสือ “สองภาษาสร้างได้” มาใช้ในการเรียนรู้ภาษาของลูกและได้ผลเป็นที่น่าประทับใจ พอสามขวบกว่าลูกเริ่มพูดภาษาอังกฤษได้ดีกว่าผมในบางเรื่อง ทำให้ผมต้องกลับมาพิจารณาแนวคิดของ วอลดอฟ์ล โดยสไตเนอร์อย่างละเอียด ซึ่งผมพบว่า ที่สไตเนอร์ยกมาก็ยังคงเป็นความจริง เพราะเขาพูดในฐานะนักการศึกษา ของคนที่ทำโรงเรียน การมีห้องเรียนสำหรับ “การสอน” ซึ่งผมคิดว่า ถ้าจะจับเด็กมานั่งสอน ควรเริ่มเมื่อเด็กโตมีความเข้าใจเรื่องนามธรรม มีพื้นฐานของภาษา มีความเข้าใจความเป็นนามธรรมของคำศัพท์ต่าง ๆ พอควรซึ่งก็น่าจะประมาณ 7 ขวบ และในที่นี้น่าจะรวมถึงวิชาการ การเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ด้วย แต่การใช้ภาษาอังกฤษพูดกับลูกประหนึ่งว่าเป็นครอบครัวลูกครึ่ง เราไม่ได้สอนภาษา แต่เราสร้างสิ่งแวดล้อมที่ใช้ภาษาเพิ่มขึ้น ทำเป็นประจำ ใช้ทุกวันกลายเป็นว่าในเวลาหนึ่งปีลูกอยู่ในสิ่งแวดล้อมของอีกภาษา มากมายกว่าการนั่งเรียนอาทิตย์ละ ไม่กี่ชั่วโมงหลายเท่า ทำให้การเรียนรู้เป็นไปอย่างธรรมชาติ ไม่ได้มีความกดดันมาก ไม่ได้มีความคาดหวัง แค่ใช้ชีวิตปรกติเหมือนที่ต้องหายใจทุกวัน
 

การเรียนดนตรีในฐานะภาษา

          ผมเคยอ่านบทความของครูดนตรีแนววอลดอร์ฟ ที่แนะนำและให้ความเห็นว่าเมื่อไหร่ที่ควรจะให้เด็กเรียนไวโอลิน ผมไม่แน่ใจเรื่องอายุ แต่จำไม่ผิดคือ 6 ขวบและเล่าอธิบายเปรียบเทียบว่าอายุก่อนหลังมีผลต่างอย่างไรแต่ผมจำเนื้อหาไม่ได้แต่เขาแนะนำไว้ที่ 6 ขวบ แต่สไตเนอร์แนะนำไว้ที่ 7 ขวบ อีกเรื่องหนึ่งผมได้จากการฟังประสบการณ์จากเพื่อนที่ให้ลูกเรียนเปียโน เล่าว่าลูกเขาเข้าเรียนตอนประมาณ 5 ขวบเด็ก ๆ ที่มาเรียนก่อนตอนอายุน้อยคือที่อายุ 4 ขวบสักพักก็ค่อย ๆ หายไป ทำให้ผมไม่ได้รีบให้ลูกเรียนเปียโน แม้จะอยากให้เรียน แต่ผมหาครูเปียโนเด็กเล็กอย่างแนวซูซูกิ หรือแบบที่สอนพร้อมพ่อแม่ไปด้วยที่เชียงใหม่ไม่ได้ เลยดึงไว้จนลูกได้ 4 ขวบครึ่งจึงได้ครูและเริ่มให้ลูกเรียนเปียโน ต้องถือว่าลูกเริ่มเรียนด้วย บรรยากาศของ”การเรียน-การสอน”จริง ๆ 2 – 3 ครั้งแรกลูกอยู่บนเปียโนได้แค่ 5 – 10 นาที และการเรียนรู้ไปไปอย่างช้ามาก เพราะกว่าจะเจอครูอาทิตย์ละครั้ง ครั้งละ 15 – 30 นาที อาทิตย์ไหนลูกสมาธิไม่ดีก็ไม่ค่อยได้อะไร จนขึ้นครั้งที่ 5 จึงคุยกับครูและพาแม่ที่อยากเรียนเปียโนอยู่แล้วไปเรียนด้วย เรียนไปพร้อม ๆ กันทำให้แม่รู้ว่าลูกเรียนอะไร กลับมาสอน กลับมาฝึกลูกได้ และแม่เองต้องซ้อมบ่อย ๆ กลายเป็นสิ่งแวดล้อมและเพิ่มชั่วโมงการเรียนรู้เพิ่มขึ้นอย่างมากมายกลายเป็นจากที่อาทิตย์ละ 15 นาที กลายเป็นวันละ 30 นาที (ครั้งละ 5 – 10 นาทีหลาย ๆ ครั้งในหนึ่งวัน)  และเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อลูกเริ่มคุ้นเคย จนพัฒนาการด้านเปียโนเป็นไปอย่างรวดเร็ว เพียง 1 เดือนก็ไปไกลจนพ่อตามไม่ทัน
          ที่เล่ามาย่อหน้าด้านบนทั้งหมดเพื่อที่จะชี้ให้เห็นว่าดนตรีมีส่วนคล้ายภาษาที่ต้องฝึกฝนและใช้บ่อย ๆ จึงพัฒนาได้ดี ดังนั้นสิ่งแวดล้อมจึงสำคัญมาก เมื่อแม่มาร่วมเรียนและฝึกเปียโนด้วยทำให้สิ่งแวดล้อมในบ้านเปลี่ยนไปมาก มีเสียงเปียโนเพิ่มขึ้น สร้างแรงบันดาลใจให้ลูกอยากฝึกมากขึ้น (รวมถึงเคี่ยวเข็ญในบางเวลา แต่ยังไงก็ไม่ถึงระดับที่ลูกไม่ชอบ) ทำให้ผมเห็นว่าสิ่งแวดล้อมมีความสำคัญมาก ตอนเล็ก ๆ ผมเปิดการ์ตูนเรื่อง Piano Mori ให้ลูกดูบ่อย ๆ และฟังเพลงอยู่เรื่อย ๆ ทั้งคลาสิก เพลงเด็ก รวมถึงเพลงที่ผมชอบฟัง



          ทั้งหมดทำให้ผมเข้าใจเรื่องดนตรีในฐานะภาษามากขึ้น เราเรียนภาษาเพื่อให้ ฟัง พูด อ่าน เขียนได้ ดนตรีก็เช่นกัน

1) ต้องฟังออก
2) การเล่นดนตรีชิ้นนั้น ๆ ได้เปรียบเสมือนการพูด ต่างกันที่ไม่ได้พูดผ่านร่างกาย แต่พูดผ่านอุปกรณ์ที่มีการใช้แตกต่างกัน เช่น เปียโน กีตาร์ จะพูด(เล่น) ดนตรีชิ้นนั้นได้คล่องไม่คล่องก็อยู่ที่การฝึกฝนร่างกาย
3) อ่าน / 4) เขียน คือการอ่านและเขียนโน้ตได้ ซึ่งการเรียนดนตรีแบบซูซูกิ จะเน้นที่ 2 ข้อแรกก่อน คือฟังและลอกเลียนเล่นตามได้ก่อน แล้วค่อยเรียนเรื่องการอ่านทีหลัง แต่การเรียนแบบทั่ว ๆ ไปจะเน้นที่การอ่านโน้ตได้ไปพร้อม ๆ กับการเล่นเครื่องดนตรี คือเป็นการอ่านและพูดไปพร้อม ๆ กัน
ผมเห็นว่า การเรียนการสอนภาษาไทยในสมัยคนรุ่นผม คือการเรียน อ่านกับเขียน เลยเพราะเราฟังและพูดได้อยู่แล้ว และพอเราเรียนภาษาอังกฤษ เราเรียนเช่นเดียวกับเรียนภาษาไทย คือ เรียนพยัญชนะ A B C เรียนอ่าน Cat Bat Rat โดยที่เรายังฟังกับพูดไม่คล่อง ทำให้การเรียนภาษาอังกฤษของเราล้มเหลว
เช่นกัน การเรียนดนตรีในแบบที่เรียนทั่ว ๆ ไป ที่เราพบดังประสบการณ์ของผมคือเรียนตามหนังสือ Alfred คือการเรียนแบบ ฟัง พูด อ่าน ไปพร้อม ๆ กันซึ่งเป็น “การเรียน การสอน” (เป็นแบบที่สไตเนอร์พูดถึงว่าควรเริ่มเมื่อเด็กอายุ 7 ขวบ) การเรียนแบบนี้เปรียบเหมือนการเรียนภาษาอังกฤษแบบที่เราถูกสอนมา ABC, Cat Rat Bat ซึ่งมักไม่ได้ผลในเด็กเล็ก แต่การเรียนแบบซูซูกิ จึงเหมือนการเรียนรู้ดนตรีแบบภาษา คือฟังกับพูดให้ได้ก่อน อ่านทีหลัง เน้นสิ่งแวดล้อมสำคัญ เรียนรู้ผ่านการลอกเลียนทำซ้ำ ให้เด็กได้ฟังบ่อย ๆ เพื่อให้พูดผ่านเครื่องดนตรีได้ ส่วนการสอนอ่านโน๊ตมาทีหลัง

 
เริ่มเมื่อไหร่ ยังไง
ในกรณีผมจะเห็นว่าสำหรับภาษาอังกฤษ ผมมีความพร้อม สามารถพูดภาษาอังกฤษกับลูกได้เลย หาสื่อภาษาอังกฤษให้ลูกฟังได้ ส่วนในกรณีการเรียนดนตรีผมพร้อมน้อยกว่า เพราะเราเล่นไม่เป็น ผมจึงให้ลูกเริ่มช้าใกล้ ๆ ช่วงอายุที่เขาแนะนำ
คำแนะนำของผมสำหรับการเรียนรู้ภาษาหรือดนตรีที่พ่อแม่ไม่มีความรู้ ถ้าจะให้ได้ผลคือ ต้องหาวิธีสร้างสิ่งแวดล้อมในเรื่องนั้น ๆ ให้ได้มากที่สุด เช่น เปิดสื่อภาษานั้น ๆ ให้ลูกได้ฟังบ่อย ๆ เปิดดนตรี เสียงเครื่องดนตรีให้ลูกฟังเรื่อย ๆ ถ้าทำได้ผู้ใหญ่ก็ควรจะเริ่มเรียนรู้ในเรื่องนั้น  ๆ เพื่อทำให้ตัวเองเป็นสิ่งแวดล้อมให้กับลูก

แน่นอนในเรื่องนี้เราไม่ได้พร้อมที่จะทำได้ในทุก ๆ ภาษาหรือเครื่องดนตรี แต่สิ่งที่ผมอยากชี้ให้เห็นคือ จากการฟังเรื่องเล่าของเพื่อนถึงเพื่อนที่มีลูก 2 คน คนหนึ่งให้ลูกเรียนรู้แบบสร้างอัจริยะ ใช้ Flash card สอนทำให้อ่านหนังสือได้แต่อายุน้อย ๆ เค้าบอกว่าลูกดูจะฉลาดทำได้ แต่เหมือนไม่ค่อยมีไหวพริบเมื่อเทียบกับอีกคน (ผมไม่กล้ายืนยันข้อมูลเพราะฟังมาอีกที)
อีกกรณีผมเห็นเด็กโฮมสกูล ที่มีการเรียนรู้แบบเสรี ที่ต้องบอกว่าเป็นเด็กบ้านเรียน เพราะวิธีการเรียนรู้น่าจะใกล้กับแนวอลดอร์ฟ คือเด็กเริ่มเรียนดนตรี เมื่อโตอาจจะอายุ 12 ปี แต่เริ่มเพราะความสนใจของตัวเอง ทำให้ขวนขวายฝึกฝนไม่นานก็เริ่มเล่นเครื่องกีตาร์ได้และเริ่มขยายไปเครื่องดนตรีอื่น ซึ่งทำได้ดีแค่ไหน เก่งแค่ไหนผมไม่สามารถประเมินได้ แต่คำถามก็คือ เราอยากให้ลูกเรียนรู้เรื่องนั้น ๆ ไปทำไม อยากให้ลูกเรียนเครื่องดนตรีชิ้นนั้น ๆ เก่งแค่ไหน เพื่ออะไร ??? ผมเชื่อว่าเด็กที่หยิบจับเครื่องดนตรีมาเล่นต้องมีแรงบัลดาลใจบางอย่าง ถ้ายังเล่นต่อเนื่องโดยไม่ต้องเคี่ยวเข็นแสดงว่ามีความสุขในการเล่น

แต่เดิมเราอาจฝึกฝนทักษะที่จำเป็นสำหรับเด็กในแต่ละช่วงวัน เพื่อให้เป็นเครื่องมือในการใช้ชีวิตผ่านช่วงวัยของเขา เช่นการเรียนรู้ภาษาเพื่อสื่อสาร การใช้ช้อนส้อมเพื่อกินอาหารเอง แต่ในสังคมที่ซับซ้อนขึ้น การมีทักษะอะไรเพิ่มอีกหลาย ๆ อย่างอาจะถือเป็นแต้มต่อในอนาคตของสำหรับลูก ประมาณว่าฝึกไว้ก่อนเผื่อได้ใช้ หรือฝึกอย่างหนึ่งเพื่อที่จะช่วยพัฒนาอีกด้านหนึ่ง เช่น ฝึกดนตรีเพื่อพัฒนาสมาธิ ฯลฯ แต่การมีทักษะที่มากมาย โดยที่ไม่ได้เชื่อมโยงกับวิถีชีวิต มันทำให้ไม่มีความหมาย คือมันอาจจะสำคัญในอนาคต แต่ถ้าพ่อแม่จัดสรรทักษะมากมายให้ลูกฝึก มากจนเบียดบังเวลาที่เค้าจะใช้ ทำสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เค้าสนใจ เวลาที่ลูกจะได้เข้าใจตัวเอง เรียนรู้ความสนใจ หัวใจของตัวเอง ได้ฝึกฝนสิ่งที่ตัวเองสนใจ ทักษะที่ถูกยัดเยียดจะทำให้แรงผลักดัน การเรียนรู้ที่เกิดจากภายในของตัวเด็กเองไม่สามารถที่จะส่งพลังออกมาได้

สุดท้ายที่ผมอยากเน้นคือสิ่งแวดล้อม ถ้าบ้านเราเป็นร้านกาแฟ ร้านขายอาหาร เด็กย่อมมีโอกาสมากกว่าคนอื่นในการคุ้นเคยกับผู้คนมากมาย การบริการ กลิ่มสัมผัสในอาหาร เครื่องดื่ม มีความสามารถตามสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติที่เติบโตขึ้นมา อย่างเช่นเช่นเด็กที่โตบนดอย ย่อมมีร่างกายแข็งแรงและมีทักษะในการเอาตัวรอด การหาอาหารจากธรรมชาติ เวลาที่เค้าควรได้ใช้กับสิ่งเหล่านั้น ดนตรีที่แยกขาดจากวิถีชีวิตเช่นเปียโน ก็อาจจะไม่ได้มีความสำคัญเอาเสียเลยในวิถีครอบครัวแบบนั้น

สีฝุ่นลูกสาว แสดงเปียโนตอน 5 ขวบหลังจากเริ่มเล่นได้ 6 เดือน



หมายเหตุ


1.    เผื่อความเข้าใจมากขึ้นผมแนะนำให้ฟังคลิบนี้ เป็นมือเบสรางวัลแกรมมี่ที่โตเติบในครอบครัวคนดนตรี เขาเล่าวิธีที่เขาเรียนรู้ดนตรีดังภาษาแม่



2.    ผมเคยคุยกับครูดนตรีแนววอลดอร์ฟ แนะนำว่าลำดับการเรียนดนตรีของเด็กควรจะเป็น ร้อง (เสียงตัวเอง) -> เครื่องเป่า (เช่นขลุ่ยเพราะสัมพันธ์กับลมหายใจเห็นการเกิดเสียงชัด) -> เครื่องสาย -> เครื่องเคาะ (ในที่นี้รวมเปียโน)

3.    สัมภาษณ์ รศ.ดร.สุกรี เจริญสุข “ผมสอนดนตรี สอนปรัชญา สอนความคิดนักเรียนและสังคม ผมเป็นครูสอนดนตรีไทย”  http://www.sarakadee.com/2005/10/02/sugree/

by Patai on Jan 03, 2015

Posted in ไม่มีหมวดหมู่

ป้ายคำค้น
No tags found

ในหมวดเดียวกัน
ป้ายคำค้นเดียวกัน
No related posts found
โปรเจ็กต์ของผู้แต่ง