การผจญภัยของเด็ก HomeSchool ตอนที่ 5 "ปัญหาก็เริ่มปรากฏ"
เมื่อฤดูกาลสอบใกล้เข้ามาถึง ข่าวการรับสมัครสอบก็เริ่มทยอยออกมา ปัญหาก็เริ่มปรากฏ!! ลูกชายผมติดตามเฉพาะการสอบแพทย์โดยเฉพาะ การสอบเข้าเรียนแพทย์ในปัจจุบันแตกต่างจากสมัยก่อนอย่างมาก สมัยก่อนรอสอบเอนทรานซ์อย่างเดียว หรือหากใครอยู่ในพื้นที่ ที่ทางมหาวิทยาลัยมีการให้สิทธิ์พิเศษรับเด็กในภูมิภาคของตัวเองก่อน ก็จะได้สิทธ์สอบอีก 1 ครั้ง เรียกกันว่าสอบโควต้า สมัยผมมีโอกาสสอบโควตา 50% เป็นด่านแรก นั่นคือเด็กที่มีเกรดเฉลี่ยหรือผลการเรียนครึ่งบนของทุกโรงเรียนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีสิทธิ์สอบ และหากผลสอบออกมาแล้ว ใครยังไม่มีที่เรียน ก็สามารถลุ้นอีกรอบในการสอบเอนทรานซ์ครั้งใหญ่ ซึ่งจะเป็นสนามสอบที่แข่งกันของเด็กทั่วประเทศ แต่ปัจจุบัน หลายมหาวิทยาลัย หลายคณะมีการรับตรงนักศึกษาเฉพาะคณะของตัวเองด้วย บางมหาวิทยาลัยก็เปิดกว้างให้กับเด็กทั่วประเทศ บางมหาวิทยาลัยก็กำหนดพื้นที่เฉพาะ แล้วนักเรียนอีสานมีสิทธิ์สอบเข้าแพทย์ที่ไหนได้บ้าง?
1 รับตรงโดยคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นในโครงการ MD 02 
2 รับตรงโดยคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นในโครงการ ODOD โครงการกระจายแพทย์หนึ่งอำเภอหนึ่งทุน
3 รับตรงโดยคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นในโครงการ CPIRD โครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท
4 รับตรงโดยคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
5 รับตรงโดยคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุรนารี
6 รับตรงโดยคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
7 รับตรงโดยคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผลิตแพทย์ให้กองทัพอากาศ
8 รับตรงโดยมหาวิทยาลัยขอนแก่น (จัดสอบรวมทุกคณะ)
9 สอบ กสพท. ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของคณะแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยรัฐและเอกชน เกือบครบทุกสถาบัน
ในส่วนของข้อสอบก็มีทั้งการออกข้อสอบเองของมหาวิทยาลัย หรืออ้างอิงผลสอบที่จัดขึ้นโดยสถาบันการทดสอบแห่งชาติ(สทศ) ที่ได้แก่ โอเนต สอบ 9 วิชา และ GAT/PAT
ลูกชายของผมได้เข้าสอบเพียง 6 รายการ เนื่องจากไม่มีสิทธิ์การสอบ ODOD เพราะเป็นเด็กในอำเภอเมือง (มิน่าเล่าเคยได้ข่าวว่ามีหมอบางคนย้ายลูกออกไปอยู่สำเนาทะเบียนบ้านต่างอำเภอก่อนห้าปี ก็เพื่อจะมีสิทธิ์สอบโครงการนี้นี่เอง เนื่องจากคู่แข่งน้อยถึงเฉพาะในจังหวัดของตนเองและยกเว้นเด็กในอำเภอเมืองด้วย)
ไม่ได้สมัครสอบของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เนื่องจากคราแรกมีการประกาศวันสอบตรงกันกับสถาบันอื่น
ไม่ได้สมัครสอบของมหาวิทยาลัยบูรพา เนื่องจากลูกบอกว่าอยู่ไกลและยังเตรียมตัวได้ไม่ดี
ไม่ได้สมัครสอบของมหาวิทยาลัยสุรนารี ลูกเกรงว่าค่าเทอมจะแพง เพราะเป็นมหาวิทยาลัยที่ออกนอกระบบแล้ว
สรุปในการสอบ 6 รายการ ก็ต้องสอบถึง 6 สนามสอบ โดยการสมัครสอบของทุกมหาวิทยาลัยจะเป็นการสมัครสอบผ่านทางระบบอินเตอร์เน็ต ซึ่งในระบบอินเตอร์เน็ตจะมีชื่อโรงเรียนในระบบเรียบร้อยแล้ว เด็กสามารถเข้าไปเลือกและก็ลงทะเบียนได้ทันที
แต่ลูกของผมสมัครไม่ได้ทันทีหรอกครับ เพราะเมื่อลองเลือกชื่อโรงเรียนในระบบการรับสมัคร ก็ไม่พบชื่อ "บ้านเรียนดวงตะวัน" เขาทำการอีเมลติดต่อผู้เกี่ยวข้องไป ได้รับการแจ้งว่า ปกติหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่นโรงเรียน หรือสพฐ. จะต้องมีการแจ้งชื่อโรงเรียนรหัสโรงเรียนพร้อมรายชื่อของนักเรียนที่มีสิทธิ์สอบเข้ามาก่อน 
แต่ปัญหานี้ดูจะแก้ไขได้ง่าย เพระเขาให้ลูกผมให้แจ้งชื่อโรงเรียน พร้อมรหัสก็สามารถสมัครสอบได้ทันที แต่ปัญหาก็คือรหัสโรงเรียนของบ้านเรียนดวงตะวันคืออะไรหว่า? ผมก็ต้องรีบติดต่อทางเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อขอทราบรหัส ในที่สุดก็สามารถสมัครได้
หลังจากสมัครก็ต้องพิมพ์ใบสมัครออกมาและให้ผู้อำนวยการโรงเรียน เซ็นรับรองว่าเป็นความจริง ผมก็ต้องไปที่เขตพื้นที่การศึกษา เพื่อให้ทางผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาเป็นผู้รับผิดชอบเซ็นแทน
บางมหาวิทยาลัยต้องการแค่ลายเซ็นของผู้อำนวยการ
บางมหาวิทยาลัยขอหลักฐานรับรองเกรดผลการเรียนด้วย
ที่หนักกว่านั้นบางมหาวิทยาลัยขอเกรดเฉลี่ยห้าเทอม พร้อมกับแยกรายละเอียดตามรายวิชา ซึ่งเป็นอุปสรรคกับHomeSchoolอย่างมาก เนื่องจากในกฎกระทรวงมีการกำหนดว่าเจ้าหน้าที่ต้องออกมาทำการประเมินผลอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็ทำตามเกณฑ์ขั้นต่ำและ จะออกผลการเรียนให้เมื่อสิ้นสุดปีการศึกษาเท่านั้น
ซึ่งผมเคยสะท้อนและเล่าถึงปัญหามาบ้างแล้วอยู่ที่
https://www.facebook.com/yu.duangtawan/posts/10207994012192143
ปัญหาHomeSchool คือยังไม่มีเจ้าภาพที่รับผิดชอบโดยตรง ที่จะดำเนินการส่งรายชื่อให้เด็กสามารถมีสิทธิ์สอบของทุกๆมหาวิทยาลัยในประเทศไทย และปัญหาการขอเอกสารที่ไม่สอดคล้องกับระบบHomeScool ซึ่งเอกสารบางชิ้น ผมเองก็ไม่เข้าใจเจตนามหาวิทยาลัย ว่าทำไมต้องการเอกสารละเอียดขนาดนั้น น่าจะรอให้เด็กสอบผ่านเข้าให้ได้ก่อน แล้วจึงร้องขอเอกสารน่าจะดีกว่าไหม เพราะที่ทำมานั้น ทำให้ต้องมีการจัดเอกสารส่งของเด็กกว่า 20,000 คน เพื่อส่งให้ทางมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นการสิ้นเปลืองทรัพยากร แรงงานและค่าใช้จ่ายอย่างมาก
การสมัครสอบมีค่าใช้จ่าย 1000 บาท หกรายการก็เกือบ 6000 เมื่อถึงวันสอบ เด็กจากหลายๆที่ก็มารวมตัวกันในจังหวัดขอนแก่นเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะการสอบของคณะแพทย์มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในรอบที่มีการให้สิทธิ์กับเด็กทั่วประเทศ ทำให้เกิดวิกฤติจราจรเลยทีเดียว เพราะสนามสอบมีจังหวัดเดียวคือจังหวัดขอนแก่น ส่วนการสอบบางรายการ ก็อาจจะมีการกระจายหลายสนามสอบไปหลายจังหวัด หรือมีทั่วประเทศบ้าง เด็กและผู้ปกครองก็สะดวกสบายขึ้น
ขนาดตัวผมที่อยู่จังหวัดขอนแก่น ที่เป็นสนามสอบของทุกการสอบ แค่ต้องขับรถไปดูสนามสอบ และคอยรับส่งวันสอบ ยังรับรู้ถึงความลำบากไม่สะดวกสบาย เห็นเด็กมาจากจังหวัดอื่น บางคนเดินทางมาสามสี่ร้อยกิโลเมตร ต้องถ่อสังขารมาสอบ ต้องมาเสียค่าที่พัก รวมการสอบครั้งหนึ่งแล้วคงหมดเงินไปมากโข ยังไม่รวมถึงความเหน็ดเหนื่อยจากการเดินทางที่จะส่งผลต่อสภาพสมองและจิตใจของผู้มาสอบด้วย
นี่คือความเหลื่อมล้ำทางการศึกษารูปแบบหนึ่งหรือเปล่า?