บทอาขยาน สู่การเรียนรู้
ติดต่อลงโฆษณา
Leaderboard in Content 1st
Fixed 1,000 baht/month
Slot 300 baht/month
 เป็นตัวอย่างของการนำ บทอาขยาน ที่ เราเคยคิดว่าไม่น่าอ่าน ไม่น่าสนใจ มาขยาย เพื่อ ให้สามารถ นำมาเป้นสื่อ เครื่องมือ ในการเรียนรู้ได้  โดยสามารถ บูรณาการได้  ในมิติและระดับ ต่างๆ  ตามแต่ความพร้อมของ พ่อแม่ และ ลูกครับ

ศุภกฤต 


บทอาขยาน
สู่การเรียนรู้
  
โดย
ชาตรี   สำราญ   [break]

  
มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์
 
ชื่อหนังสือ                            บทอาขยาน  สู่การเรียนรู้
ผู้เขียน                                    ชาตรี  สำราญ
จัดพิมพ์โดย                          มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์
                                                สำนักงานชั่วคราว
                                                สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ  อาคาร 1  ห้อง 1410  ถนนสุโขทัย
เขตดุสิต  กรุงเทพฯ  10300
โทรศัพท์ 243-9131-2  โทรสาร  243-2776
พิมพ์ครั้งที่ 1                         พฤศจิกายน 2542
ภาพปก/รูปเล่มโดย             นางสาวปรมาภรณ์  เปรมภู่
ราคา                                       20 บาท
ข้อมูลและบรรณานุกรม
ชาตรี      สำราญ
                บทอาขยาน  สู่การเรียนรู้.-กรุงเทพฯ
                : มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์, 2542
                16 หน้า
                1. วิธีการศึกษา  2. กิจกรรมการเรียนการสอน
                3. การสอนด้วยอุปกรณ์  I. ชื่อเรื่อง
371.3028
ISBN  974-87206-0-8
บทอาขยาน  สู่การเรียนรู้
               
เวลาผมจะสอนผมต้องคิดเสมอว่า  ผมจะสอนใคร  จะสอนทำไม  เมื่อรู้ว่าจะสอนใคร  และสอนทำไมแล้ว  ผมจึงจะคิดว่าสอนอย่างไร  เพราะสอนใครนั้น  ถ้าเรารู้ก็จะสามารถจัดกิจกรรมการเรียนให้สนองปัญญาเด็ก  เด็กแต่ละคนมีปัญญาการรับรู้ไม่เท่ากัน  ปัญหาหรือคำถามที่นำมาสอนก็ต้องไม่เท่ากัน  ยากง่ายตามปัญญาแต่ละคน
อีกอย่างหนึ่งถ้าเราจัดกิจกรรมทำให้เด็กๆ คละกลุ่ม  เก่ง-กลาง-อ่อน  มาร่วมเรียนรู้กันได้ก็จะง่ายต่อการเรียนรู้
สถานการณ์  เป็นนสื่อง่ายๆ ที่ครูสามารถนำมาจัดกิจกรรมสอนเด็กได้เกือบทุกเรื่อง  โดยเฉพาะสถานการณ์แห่งความเป็นจริง  ถ้าเด็กๆ มีโอกาสได้นำเรื่องราวชีวิตจริงที่เขาพบเห็น  นำมาวิเคราะห์วิจารณ์  อภิปรายหาข้อสรุปเป็นข้อปฏิบัติตนได้แล้ว  เด็กๆ ก็จะติดนิสัยการคิดวิเคราะห์อยู่ตลอดเวลา
วิธีการเรียนรู้ชีวิตสู่ชีวิต  ซึ่งผมเรียกว่าการสอนโดยอาศัยสิ่งแวดล้อมเป็นสื่อนั้น  จะหยิบยกเรื่องใดมาเป็นสถานการณ์การสอนย่อมได้ทั้งนั้น  เช่น  บทดอกสร้อยเรื่อง  จันทร์เจ้า
                จันทร์เอ๋ยจันทร์เจ้า
ใครขอข้าวขอแกงท้องแห้งหนอ
ร้องจนเสียงแห้งแหบถึงแสบคอ
จันทร์จะรอให้เราก็เปล่าดาย
ยืมจมูกท่านหายใจเห็นไม่คล่อง
จะหาช่องเลี้ยงตนเร่งขวนขวาย
แม้นเป็นคนเกียจคร้านพานกรีดกราย
ไปมัวหมายจันทร์เจ้าอดข้าวเอย
 
                ถ้าท่านอ่านดูให้ดีเราจะเห็น  ความลุ่มลึกของบทดอกสร้อยบทนี้ซ่อนที่ซ่อนเร้นอยู่อย่างมากมาย  เพียงแต่เราจะนำมาสอนใครเท่านั้นเอง  ถ้าผู้เรียนอยู่ในระดับชั้นมัธยมศึกษา  ครูก็สามารถให้คิดวิเคราะห์วิจารณ์  เปรียบเทียบกับสถานการณ์แห่งความเป็นจริงของชีวิตได้  โดยครูตั้งปัญหาให้คิดว่า
                1. ทำไมผู้แต่งจึงแต่บทดอกสร้อยนี้ขึ้นมา
                2. บทดอกสร้อย “จันทร์เจ้า”  สะท้อนภาพบ้านเมืองยุคสมัยนั้นอย่างไรบ้าง
                3. ภาพของบ้านเมืองที่กล่าวถึงในข้อ 2  นั้น  มีสถานการณ์เหมือนหรือต่างกันอย่างไรบ้าง  ทำไมจึงคิดอย่างนั้น
                4. บทดอกสร้อยบทนี้  ชี้นำการดำเนินชีวิตของเราในวันนี้อย่างไรบ้าง  มีข้อความใดที่นักเรียนมองเห็นภาพการชี้นำได้
                ภาพให้คิดอย่างนี้  จะช่วยจุดประกายให้เด็กๆ ได้คิดอย่างหลากหลาย  คิดค้นหาความรู้  สืบเสาะหาความเป็นมาของการคิดเขียนบทดอกสร้อย  นั่นคือ  ต้องศึกษาประวัติวรรณคดี  เพื่อนำสู่การอภิปรายสรุปผล
                นักเรียนระดับ ป.3-ป.4  ก็จะให้ร่วมกันคิดเรื่องราวที่ง่ายๆ ใกล้ตัวเด็กคือ  บทดอกสร้อย  เด็กเอ๋ยเด็กน้อย
                                เด็กเอ๋ยเด็กน้อย
                ความรู้เรายังด้อยเร่งศึกษา
                เมื่อเติบใหญ่จะได้มีวิชา
                เป็นเครื่องหาเลี้ยงชีพสำหรับตน
                                ได้ประโยชน์หลายสถานเพราะการเรียน
                จงพากเพียรไปเถิดจะเกิดผล
                ถึงลำบากตรากตรำก็จำทน
                เกิดเป็นคนควรหมั่นขยันเอย
 
                ครูควรจะตั้งคำถามให้เด็กคิดวิเคราะห์  วิจารณ์  อภิปราย  สรุปผล  ถึงเรื่องราวต่างๆ ที่สามารถมองเห็นได้ในบทดอกสร้อย  สุภาษิตบทนี้พอที่จะมีตัวอย่างให้เห็นคือ
                1. คำว่า  “เด็กเอ๋ยเด็กน้อย”  น่าจะหมายถึงใคร  ทำไมจึงคิดอย่างนั้น
                2. คำว่า  “ความรู้เรายังด้อย”  หมายความว่าอย่างไร  ทำไมจึงคิดอย่างนั้น
                3. ถ้าไม่ใช้คำว่า  “ความรู้เรายังด้อย”  แล้วเราจะสามารถใช้คำใดมาแทนได้อีก  ยกตัวอย่างด้วย
                4. คำว่า  “การศึกษา”  หมายความว่าอย่างไร  เราควรศึกษาเรื่องใดบ้าง  ศึกษาไปทำไม
                5. ข้อความใดในบทอาขยานนี้ที่กล่าวถึงคุณประโยชน์ของการศึกษา
                6. คำว่า  “เป็นเครื่องหาเลี้ยงชีพสำหรับตน”  หมายความว่าอย่างไร  ยกตัวอย่างด้วย
                7. คนในชุมชนของเรามีใครที่ใช้  “วิชาเป็นเครื่องหาเลี้ยงชีพสำหรับตน”  บ้าง  และเขาเหล่านั้นทำอาชีพอะไร
                8. จากคำว่า  “ได้ประโยชน์หลายสถานเพราะการเรียน”  นั้นมีประโยชน์อะไรบ้าง  ทำไมจึงคิดอย่างนั้น
                9. คำว่า  “จงพากเพียรไปเถิดจะเกิดผล”  จะต้องพากเพียรอย่างไร  และจะเกิดผลอะไรบ้าง  ทำไมจึงเกิดผลอย่างนั้น
                10. ถ้าหากเราขาดความ  “พากเพียร”  ในการเรียนแล้วจะเกิดผลอะไรขึ้นบ้าง  ทำไมจึงเกิดผลอย่างนั้น
                11. นักเรียนเข้าใจความหมายของคำว่า  “ถึงลำบากตรากตรำก็จำทน”  อย่างไรบ้าง  ทำไมจึงคิดอย่างนั้น
                12. ทำไมเราจึงต้อง  “...ควรหมั่นขยัน...”  เราควรหมั่นขยันในเรื่องใดบ้าง  หมั่นขยันอย่างไร  หมั่นขยันไปทำไม
                ถ้าเราเปิดโอกาสให้เด็กๆ คิดวิเคราะห์  วิจารณ์  อภิปราย  สรุปผล  ได้บ่อยๆ แล้วจะช่วยให้เด็กได้จุดประกายความคิดของตนออกไปได้กว้างไกลโดยไม่หลงทิศทาง  เพราะมีคำถามนำเป็นลู่ให้เด็กคิดได้  และเมื่ออ่านบทอาขยาน  หรือวรรณกรรมต่างๆ ก็จะต้องใช้ดุลยพินิจในการสืบเสาะ  สร้างมุมมองที่หลากหลาย  เพื่อเสพย์อรรถรสแหห่งวรรณกรรมมากกว่าการท่องจำแต่เพียงอย่างเดียว
                ถ้าเด็กๆ ได้ซาบซึ้งถึงวรรณศิลป์ภาษาแล้วครูสามารถชี้ทำนำทาง  สู่รูปแบบของฉันทลักษณ์เหล่านั้น  จนถึงขั้นหัดแต่งบทร้อยกรอง  และแต่งจนได้ในที่สุด
                ถ้าหากครูต้องการเนื้อหาความรู้ที่ลึกลงไปอีก  ก็สามารถให้เด็กๆ ได้ศึกษาค้นคว้าเจาะลึกลงไปได้  เช่น  ในเรื่องของอาชีพ  นักเรียนสามารถศึกษาค้นคว้าถึงอาชีพต่างๆ มาวิเคราะห์วิจารณ์ได้  อีกทั้งสามารถเจาะลึกลงสู่การออกศึกษาอาชีพในชุมชน  ฝึกทำอาหาร  ฝึกวิชาชีพที่ตนต้องการจะฝึก
                แม้แต่คำว่า  ถึงลำบากตรากตรำก็จำทน  ถ้าครูเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ไปสนทนาเรียนรู้ชีวิตจริงจากเด็กขายพวงมาลัย  เด็กขายขนมข้างถนน  กรรมกร  คนงานก่อสร้าง  แม่ค้าหาบเร่    ซึ่งบุคคลเหล่านี้จะสามารถเล่าเรื่องราวความยากลำบากและการต่อสู้กับชีวิตของตนให้เด็กๆ เก็บมาเป็นข้อมูลในการอภิปรายหาข้อสรุป  จนเกิดความตระหนักต่อตัวผู้เรียนได้
                จากที่เขียนมาทั้งหมดนี้  เพื่อแสดงให้เห็นว่าการสอนบทอาขยานหรือบทดอกสร้อยนั้น  ไม่ใช่เฉพาะแต่การสอนให้ท่องจำเท่านั้น  ครูผู้สอนจะต้องสอนให้  ท่องจำสู่การต้องทำด้วย  เพราะการท่องจำโดยไม่รู้ความหมายหรือท่องจำอย่างเดียว  ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้เรียน  การเรียนจะต้องให้ผู้เรียนเรียนรู้อย่างใความหมายต่อผู้เรียนจึงจะเกิดการเรียนรู้
                ถามว่าแล้วจะให้เด็กๆ รู้อะไรบ้าง
                คำถามนี้ท้าทายให้ค้นหาคำตอบมาก  ให้พยายามเค้นความคิดด้วยดวงจิตที่มุ่งมั่นจะสอนเด็กเพ่ะตั้งใจไว้ว่า
                คิดสิ่งที่จะสอน
                จะสอนให้เด็กคิด
                โดยจะสอนบทอาขยานหรือบทดอกสร้อย  ในรูปแบบท่องจำสู่การต้องทำ  ด้วยวิธีการดังนี้
                1. ท่องจำ  การท่องจำนั้นมีหลายระดับที่จะช่วยพัฒนาผู้เรียนให้เกิดการคิด  เช่น 
                                1.1 จำเป็นต้องจำ  คือจำแบบจำปากเพื่อนำไปตอบสอบคำกับครู  และจำเพื่อฝึกสมองให้พัฒนาทั้งซีกซ้าย  ซีกขวา  เพราะการจำบทร้อยแก้วและร้อยกรอง  ก็เป็นการพัฒนาสองได้ทางหนึ่งด้วย
                                1.2 จำจนขึ้นใจ  การจำขั้นนี้เป็นการจำจากที่จำแบบนกแก้วนกขุนทองมาสู่การจำแบบสามารถรำลึกได้  คือ  เมื่อต้องการจะนำไปใช้ก็รำลึกนึกมาได้  เพราะทุกอย่างอยู่ในหัวใจบันทึกไว้ในความทรงจำ  สามารถนึกเรียงลำดับมาใช้ได้อย่างดี  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการฝึกในขั้นที่ 1  ว่าจำได้มากน้อยเพียงใด  ถ้าจำได้ดี  เรียงลำดับก่อนหลังได้ก็จะดึงไปใช้ได้ง่ายๆ เหมือนเราบรรจุโปรแกรมความจำไว้ในสมองนั่นเอง
                                1.3 จำแบบบท  เป็นการจำเพื่อนำไปใช้ประกอบการเขียนบทร้อยกรองทำนองเสนาะได้   เพราะรูปแบบของฉันทลักษณ์แต่ละอย่างนั้นมีแบบครู  ให้ดูได้เป็นแบบอย่าง  เช่น  จะเขียนโคลงก็นึกถึง
                                เสียงลือเสียงเล่าอ้าง            อันใด  พี่เอย
                เสียงย่อมยอยศใคร                              ทั่วหล้า
                สองเขือพี่หลับไหล                             ลืมตื่นฤๅพี่
                สองพี่คิดเองอ้า                                    อย่าได้ถามเผือ
 
                คำครูเหล่านี้จะช่วยให้นักเลงกลอนสอนเขียนสามารถนำมาใช้ได้ทุกครั้งในเวลาจะเขียน  กวีต้นแบบได้ร้อยเรียงฉันทลักษณ์ไว้ให้เห็นเป็นแบบอย่างที่ดีแล้ว
                                1.4 จำบทร้อยถ้อยคำ  บทกวีแต่ละบทนั้น  กวีผู้รจนางานได้เพียรพยายามเรียงร้อยถ้อยคำนำมาเขียนให้ไพเราะสละสลวยเป็นแบบอย่างของการใช้ภาษา  อีกทั้งได้สอดใส่อารมณ์ลงในถ้อยคำเหล่านั้น  ทำให้เวลาอ่านจะเห็นภาพของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้  ดังเช่น
                ชะโดดุก   กระดี่โดด   สลาดโลด   ยะหยอยหยอย 
                กระเพื่อมน้ำ   กระพร่ำพรอย   กระฉอกฉาน   กระฉ่อนชล
                                อ่านแล้วเห็นภาพธรรมชาติ  เห็นปลามาว่ายเวียนอยู่ข้างหน้า  กระโดดไปมาให้ละอองน้ำโดนเรา  ข้อความเหล่านี้  ถ้าเราจดจำแล้วนำมาฝึกเรียงร้อยให้เป็นถ้อยภาษาใหม่บ่อยๆ จะทำให้เราเขียนภาษาได้งดงามยิ่งขึ้น
                2. ต้องทำ  เมื่อเด็กๆ สามารถจดจำบทกวีได้ตามลำดับขั้นตอนดังที่เสนอไว้ในข้อ 1  แล้ว  ครูสามารถพัฒนาเด็กให้เป็นผู้กระทำบ้าง  เพราะการทำดีกว่าการจำแต่เพียงอย่างเดียว  การทำที่มีลำดับขั้นตอนดังนี้คือ
                                2.1  ต้องทำการถอดแบบผังคำประพันธ์  ให้เห็น
                                                -  คำสัมผัสนอก  สัมผัสใน
                                                -  คำสัมผัสระหว่างบท  ระหว่างวรรค
                                                -  ลูกเล่นคำนำเขียนที่เสริมสร้างให้บทประพันธ์นั้นๆ อ่านแล้วให้อารมณ์อ่อนพริ้วหวิวไหวหรือโกรธเคืองไปตามถ้อยภาษาที่ร้อยเรียงไว้  จนเกิดความสะเทือนอารมณ์แก่ผู้อ่าน
                                2.2 ต้องทำการค้นหาความหมายของคำแต่ละคำ  ที่นำมาเรียงร้อยให้เกิดเสียงไพเราะ  แต่ถ้าเจาะลึกลงไปจะพบว่าคำแต่ละคำนั้น  ซ่อนเร้นความหมายที่มีหลายนัย  เป็นอวัจนสารให้ได้คิด  นั่นคือ  ฝึกเด็กให้รู้เท่าทันภาษา  เพราะภาษาหรือคำแต่ละคำในบางคำมีความหมายแฝงไว้  เป็นหลุมพรางให้ผู้อ่านตกลงไปในถ้อยภาษาได้  ถ้ารู้ไม่เท่าทัน
                                แต่ถ้ารู้เท่าทันก็จะอ่านวรรณกรรมเหล่านั้นได้อรรถรสยิ่ง  เช่น  รักดีหามจั่ว  รักชั่วหามเสา  เราต้องตีความหมายให้เห็นภาพแล้วจึงจะเข้าใจภาษา  เพราะในภาษาซ่อนภาษาให้เราหาความหมาย
                                2.3 ต้องทำการวิเคราะห์เจาะใจผู้เขียนว่า
                                                -  ทำไมจึงต้องเขียนบทร้อยกรองบทนี้
                                                -  มีแรงบันดาลใจอย่างไร
                                เพราะคำถามเหล่านี้ทำให้ต้องเจาะลึกศึกษาที่มาที่ไปของวรรณกรรมที่อ่านเกลียวโยงกับประวัติศาสตร์เหตุการณ์บ้านเมือง  ทำให้ผู้อ่านรู้รอบจะส่งผลให้รอบรู้ได้
                                2.4 ต้องวิเคราะห์เจาะลึกให้เห็นความสอดรับเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ต่อเหตุการณ์  คือ  อดีต  ปัจจุบันต่อถึงอนาคต  แล้วผันสู่ความเชื่อมโยงถึงผู้อ่านว่า
                                -  สิ่งนั้น  (เรื่องที่เกิด)  น่าจะมีผลกระทบต่อตนเอง  ต่อสังคม  ต่อประเทศชาติ  ต่อโลกได้อย่างไรบ้าง
                                -  มีวิธีปฏิบัติอย่างไรที่จะไม่ให้เหตุการณ์ดังกล่าว  (ถ้าเป็นเหตุการณ์ด้านลบ)  เกิดซ้ำขึ้นได้อีก
                จะเห็นได้ว่า  ทั้งการจำและการทำ  จะทำหรือสอนเพียงผ่านๆ ไม่ได้  เพราะทักษะจะเกิดขึ้นแก่ผู้เรียนได้เมื่อได้ทำซ้ำๆ ซึ่งผู้เรียนจะต้องผ่านกระบวนการทำซ้ำในรูปแบบได้
                                ฝึกหัด
                                ฝึกฝน
                                ฝึกปรน
                                ฝึกปรือ
                สี่ขั้นตอนนี้มีค่าต่อการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน  เพราะเป็นการผนึกกำลังทางความคิดให้เด็กๆ ผู้เรียนมีความชำนาญการเขียนขึ้นเรื่อยๆ จาก  หัดเขียน  เป็นนักเขียนได้  และเขียนเป็น
                สื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ ก็สามารถนำมาประกอบการสอนกับบทเรียนดอกสร้อยหรือบทอาขยานได้  โดยครูตั้งประเด็นคำถามสร้างสถานการณ์ให้เด็กได้คิดวิเคราะห์ว่า
                -  ประโยคหรือข้อความนี้มีความสอดคล้องพ้องรับกับข่าวเรื่องใด  อย่างไร  ทำไม
                -  คิดว่าถ้าปล่อยให้เหตุการณ์ในข่าวเกิดขึ้นต่อไปแล้วจะมีผลกระทบอย่างไร  ทำไมจึงคิดอย่างนั้น
                คำถามแค่นี้  นักเรียนจะต้องใช้เวลาในการพิจารณาข่าวให้สอดคล้องกับข้อความในบทอาขยานนานพอดู
                ผมเคยให้เด็กวิเคราะห์ข้อความในบทอาขยานตอน  “...เป็นเครื่องหาเลี้ยงชีพสำหรับตน”  เด็กๆ จะต้องใช้เวลานานกว่า 20 นาที  ในการวิเคราะห์ข่าวแล้วจึงลงมือตัดฉีกเนื้อข่าวจากหนังสือพิมพ์มาปะติดบนกระดาษ  แล้วขยายความให้สอดรับกับเนื้อข่าวที่ต้องการ
                การอ่านข้อความ  นำมาวิเคราะห์หาสาระสำคัญว่าทิศทางที่แท้จริงอยู่ตรงไหน  ควรใช้ข่าวหรือภาษาใดประกอบการวิเคราะห์ข่าว  ข้อความ  และภาพข่าว  เพื่อมาประกอบกับข้อความที่ต้องการให้สอดรับกัน  อีกทั้งเด็กๆ จะต้องหาเหตุผลในการเลือกข่าวมาเขียนลงในชิ้นงาน  รวมถึงการทำนายอนาคตและสถานการณ์ข้างหน้า  และการคิดค้นหาหนทางป้องกันไม่ให้เกิดสถานการณ์ซ้ำซ้อน  คือกระบวนการเรียนรู้ที่ครู้จะต้องสร้างให้เกิดขึ้นแก่เด็กๆ เพราะนี่คือทักษะชีวิตที่แท้จริงในโลกแห่งข้อมูลข่าวสารไร้พรมแดน  ครูจำเป็นที่จะต้องสร้างลักษณะนิสัยการคิดวิเคราะห์วิจารณ์  มีดุลยพินิจในการบริโภคข้อมูลข่าวสารให้มากๆ จนเกิดเป็นทักษะชีวิต  ถ้าเด็กบังเกิดพฤติกรรมพินิจพิเคราะห์ข้อมูลข่าวสารอย่างมีเหตุผล  รู้จักบริโภคข้อมูลข่าวสาร  รู้จักตั้สติรองรับข้อมูลข่าวสาร  รู้จักระงับความอยาก  ที่จะบริโภคสิ่งของตามโฆษณาในสื่อต่างๆ ไดแล้ว  เด็กๆ จะมีชีวิตอยู่ในโลกไร้พรมแดนได้อย่างสงบสบาย  นั่นคือ  เด็กจะฉายภาพ  เก่ง  ดี  มีสุข  ให้เห็นได้อย่างเด่นชัด
                เขียนมาถึงตรงนี้ใคร่ที่จะสรุปว่า  บทอาขยานควรสอนให้เด็กๆ ได้  ท่องจำ  ต้องทำ  เพราะมีคุณค่ามหาศาล  ถ้าได้ผ่านกระบวนการเรียนรู้ที่ถูกต้องจนฝังใจเป็นทักษะถาวรแก่ผู้เรียน 
                บทดอกสร้อยสุภาษิตคือ  สร้อยมรกตอันล้ำค่า  ถ้าครูรู้จักนำมาใช้สอน                               
 
 
 
ชาตรี  สำราญ
                เป็นครูผู้ริเริ่มสร้างสรรค์นวัตกรรมการเรียนการสอนหลากหลายแนวทาง  อาทิ  สอนโดยอาศัยสิ่งแวดล้อมเป็นสื่อ  คอนเสิร์ตการเรียนรู้ภาษาไทย  สอนให้คิดแบบโยงสู่ชีวิตจริง  สอนแบบเพิ่มคำนไปเขียน  สอนแบบ Story Line  บทเรียนเขียนโดยเด็ก ฯลฯ   โดยมีความเชื่อว่า  “ห้องเรียนที่แท้จริงของลูกศิษย์ของผม  คือ  ใต้ต้นไม้  สนามหญ้า  ป่าเขา  ทุ่งนา  และบ้านของนักเรียน  มากกว่าห้องสี่เหลี่ยมแคบๆ  ที่นิยมใช้สอนกันอยู่ทุกวันนี้”
ครูชาตรี  มีผลงานวิชาการหลายเรื่อง  เช่น  มายากลเพื่อการศึกษา,  สอนอย่างไรให้เด็กเกิดแรงบันดาลใจเขียนบทกวี,  จากหลักสูตรสู่ห้องเรียน  เปลี่ยนเป็นผลงานวิชาการ,  สอนให้คิด-คิดให้สอน,  การเขียนบทเรียนด้วยตนเอง,  เสวนาระหว่างชีวิตกับชีวิต,  และเส้นทาง Story Line  สู่การเรียนรู้  เป็นต้น
ได้รับรางวัลครูภาษาไทยดีเด่น  จากมูลนิธิสมาน  คุณหญิงเบญจา  แสงมลิ  (2553)  ล่าสุดในปี 2541  ได้รับการยกย่องเป็นครูต้นแบบ  จากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ
ปัจจุบันเป็นอาจารย์ 3  ระดับ 9  สอนระดับประถมศึกษาอยู่ที่โรงเรียนคุรุชนพัฒนา  ตำบลเปาะเส้ง  อำเภอเมือง  จังหวัดยะลา
มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์
                ก่อตั้งขึ้นในปี 2537  ตามเจตนารมณ์ของพลตรี  นายแพทย์สฤษดิ์วงศ์  และคุณหญิงสดศรี  วงศ์ถ้วยทอง  เปิดตัวต่อสาธารณชนครั้งแรก  เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2538  โดยการจัดประชุม “จุดประกายการสร้างสรรค์ปัญญา  เพื่ออนาคตของมนุษย์ชาติ”  จากนั้นได้ดำเนินงานและมีกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง  เพื่อสนับสนุนให้เกิดการพัฒนามนุษย์อย่างเต็มศักยภาพ  ในอันที่จะบรรลุถึงปัญญา  ความดี  ความงาม  มิตรภาพ  และสันติภาพ
                กิจกรรมในระยะเริ่มแรกของมูลนิธิ  เน้นการประชุมและสร้างกระบวนการ  เพื่อสนับสนุนการคิดค้นสร้างสรรค์และกระบวนการเรียนรู้ใหม่ๆ  ขณะเดียวกันก็ให้ความสนใจและเข้าร่วมอยู่ในขบวนการปฏิรูปการศึกษา  ซึ่งกำลังก่อตัวขึ้นจากการผลักดันของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน 
                นับตั้งแต่ช่วงครึ่งปีหลังของ พ.ศ. 2540  ขณะที่กระแสปฏิรูปการศึกษาได้ก่อตัวขึ้นอีกระลอกหนึ่งนั้น  วิกฤตทางเศรษฐกิจและสังคมได้เริ่มปรากฎชัดและมีผลกระทบรุนแรงอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน  สภาพการณ์ดังกล่าว  เป็นประจักษ์พยานที่ชัดเจนถึงความล้มเหลวของระบบการศึกษาไทยที่สั่งสมมาเป็นเวลานานหลายทศวรรษ  และเป็นวิกฤตทางปัญญาที่สังคมไทยต้องร่วมกัน  แสวงหาทางออกอย่างเร่งด่วน
ศ.นพ. อารี  วัลยะเสวี  และศ.นพ. ปรเวศ  วะสี  ประธานและรองประธานมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์  ตระหนักถึงหายนภัยที่กำลังบังเกิดขึ้นต่อสังคมไทย  จึงดำริให้มูลนิธิฯ  เคลื่อนไหวและรณรงค์ให้สาธารณชนเข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิรูปการศึกษา
หนังสือเล่มที่ท่านถืออยู่นี้  เป็นผลงานหนึ่งที่มูลนิธิฯให้การสนับสนุนจัดพิมพ์  เพื่อช่วยจรรโลงสังคมไทยให้เกิดความเข้มแข็งทางปัญญา  ให้สาธารณชนเกิดความรู้  ความสนใจในการเป็นไปและอนาคตของการศึกษาไทย  และหวังว่าเป็นส่วนเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้อ่านเข้าร่วมในการปฏิรูปการศึกษา  ทั้งโดยการลงมือปฏิบัติเอง  และการสนับสนุนหรือให้ข้อคิดเห็นเสนอแนะต่อฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่อไป
 
 
 

ถ้าเราเปิดโอกาสให้เด็กๆ คิดวิเคราะห์  วิจารณ์  อภิปราย  สรุปผล  ได้บ่อยๆ แล้วจะช่วยให้เด็กได้  จุดประกายความคิดของตนออกไปได้กว้างไกลโดยไม่หลงทิศทาง  เพราะมีคำถามนำเป็นลู่ให้เด็กคิดได้  และเมื่ออ่านบทอาขยาน  หรือวรรณกรรมต่างๆ  ก็จะต้องใช้ดุลพินิจในการสืบเสาะ  สร้างมุมมองที่หลากหลาย  เพื่อเสพย์อรรถรสแห่งวรรณกรรมมากกว่าการท่องจำแต่เพียงอย่างเดียว


by Suppakrit on Jul 09, 2012

Posted in ไม่มีหมวดหมู่

ป้ายคำค้น
No tags found

ในหมวดเดียวกัน
ป้ายคำค้นเดียวกัน
No related posts found
โปรเจ็กต์ของผู้แต่ง