สอนอย่างไร ให้ลูก(หลาน)ศิษย์ อ่านหนังสือได้ โดย ชาตรี สำราญ
สอนอย่างไร
ให้ลูก(หลาน)ศิษย์อ่านหนังสือได้ (1)
 
ผมมักจะได้รับคำถามจากคุณครู  และพ่อแม่ผู้ปกครองของเด็กบ่อยว่า  “สอนอย่างไรให้ลูก(ศิษย์)หลานอ่านหนังสือได้”  ผมคิดว่าคำถามนี้ท้าทายให้ผมและท่านผู้ถามพิสูจน์ความจริง  ความจริงที่ว่า  ถ้าหากผมแนะนำแล้วจะทำได้จริงๆ ดั่งที่ว่าไหม  นี่คือคำท้าทายที่ให้ช่วยกันพิสูจน์
            ความจริงแล้วการสอนให้เด็กๆ อ่าน  เขียนหนังสือไม่ใช่เรื่องยาก  ถ้าหากเราไม่ใช้หนังสือเป็นตัวตั้ง  นั่นหมายความว่า  ถ้าผู้สอนไม่เลือกหนังสือเล่มหนึ่งเล่มใดเป็นหลักมาเป็นหนังสือสอนแล้ว  จะง่ายต่อการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนมาก
            “นี่อะไรลูก”  ผมถามผึ้งหลานของผม 
“ปลาค่ะ”  หลานสาวผมตอบ  พอหลานตอบ  ผมก็วาดรูปปลาลงในกระดาษแทนตัวปลาน้อยๆ  ที่ว่ายอยู่ในสระน้ำ  หลานสาวผมดูปลาในสระแล้วหันมาดูปลาในกระดาษที่ผมวาดไว้  พร้อมกับยิ้มอย่างพอใจ
“ปลา  ปู่  ปลา”  พูดพลางเจ้าหลานตัวน้อยชี้รูปปลาในมือผม  ผมถือโอกาสเขียนคำว่า  ปลา  ตัวโตๆ  ลงในรูปปลาแล้วอ่านดังๆ ว่า  “ปลา”  เด็กน้อยอ่านตาม  ผมเขียนคำว่า  ปลา  ลงในกระดาษอีกแผ่นหนึ่งแล้วอ่านออกเสียงว่า  ปลา  เด็กน้อยอ่านตาม 
[break] ผมเก็บรูปปลาที่มีคำเขียนปลาไว้  คงเหลือแต่คำเขียน  ปลา  แผ่นเดียว  อ่านปลาดังๆ  เด็กน้อยอ่านตาม  ผมชี้นิ้วไปที่คำว่า  ปลา  แล้วถามหลานสาวว่า  “อ่านว่าอะไร”  หนูน้อยหลานของผมอ่านออกเสียง  ปลา  ได้ถูกต้อง  ทั้งๆ ที่ไม่มีภาพปลา  ผมหยิบกระดาษแผ่นเล็กๆ  อีกแผ่นหนึ่งเขียนคำว่าปลาลงไป  หลานสาวผมก็อ่านได้อีก  นั่นแสดงว่า  คำ  “ปลา”  เข้าแทนที่  “ภาพปลา”  ในความทรงจำของหลานสาวผมได้แล้วครับ  คนที่ดีใจมากคือปู่  ผู้สอนให้หลานอ่านหนังสือได้  ใช่แล้ว  แม้ว่าหลานจะอ่านได้เพียงคำเดียว  ผมก็ถือว่าสำเร็จแล้วครั้งนี้
ผมเริ่มบทเรียนบทใหม่ด้วยการเขียนคำว่า  “ดู”  ลงในกระดาษพร้อมกับคำว่า  ปลา  ดังนี้

ปลา
ดู          ปลา
 
            ผมเริ่มอ่านนำ  ปลา  ดู  ปลา  ชี้ตัวหนังสือให้หลานสาวอ่านตาม  ปลา  ดู  ปลา  หลานสาวผมดีใจที่อ่านได้  ผมปล่อยให้อ่านเอง  ปลา  ดู  ปลา  หลายครั้ง  หนูน้อยอ่านได้  ผมหยิบกระดาษแผ่นเล็กๆ  มาเขียนเป็นบัตรคำ  ดู  บัตรหนึ่ง  ปลาบัตรหนึ่ง  แล้วให้หลานสาวอ่าน  ดังนี้

ปลา     ดู
ดู          ปลา
 
            หลานสาวผมก็อ่านได้อีก  ผมจึงเขียนบัตรคำปลาเพิ่มแล้วนำมาเรียง  ดังนี้

ปลา     ดู
ดู          ปลา
ปลา     ดู          ปลา
ดู          ปลา     ดู          ปลา
 
            หลานสาวผมอ่านได้  ผมจึงถามว่า  “ใครดูปลา”  เด็กน้อยตอบผมว่า  “ผึ้ง  ดู  ปลา”  ผมจึงเขียนว่า

ปลา
ดู          ปลา
ผึ้ง        ดู          ปลา
 
            แล้วผมชี้ให้ผึ้งอ่าน  หลานสาวผมก็อ่านได้อีก  ผมจึงเขียนบัตรคำเพิ่ม  แล้วนำมาเรียงกัน  ดังนี้

ปลา
ดู          ปลา
ผึ้ง        ดู          ปลา
ปลา     ดู          ผึ้ง
ผึ้ง        ดู          ปลา     ดู          ผึ้ง
ปลา     ดู          ปลา     ดู          ผึ้ง
 
            ครับ  คำเพียง 3 คำ  ถ้านำมาวางเรียงสลับกันไปมาก็จะเกิดความใหม่ขึ้น  และแน่นอนการสอนคำกับการสอนคำเป็นหนึ่งเดียว  นั่นคือขณะที่เราสอนคำ  เราก็สอนอ่านคำไปด้วย  ผมดูผึ้งจะพอใจต่อความสำเร็จในการอ่านหนังสือได้ครั้งนี้
ผมเขียนคำที่สอนแล้วไว้ในกระดาษแผ่นใหญ่พร้อมกับวาดรูปปลาด้วย  นำหนังสือแผ่นใหญ่นี้ไปปิดไว้ข้างฝาผนัง  เพื่อให้ผึ้งได้อ่านทบทวน  ขณะที่ผมวาดรูปปลาอยู่นั้น  ผึ้งสนใจมาก  เมื่อผมวาดเสร็จ  เจ้าหนูน้อยหยิบกระดาษ  ดินสอที่วางอยู่ข้างๆ  วาดรูปปลาบ้าง  “สวยไหมปู่”  เด็กน้อยถาม  ผมตอบว่าสวยมาก  เธอยิ้ม  ผมฉวยโอกาสนี้บอกให้เธอเขียนคำว่า  ปลา  ลงไปใต้รูปภาพ  ผึ้งพยายามลากเส้นตัวหนังสือโย้ไปเย้มาจนเสร็จ  ดูเธอพอใจกับความสำเร็จที่ทำได้
จะเห็นว่าผมไม่เร่งรัดที่จะให้หลานสาวรีบอ่านรีบเขียน  จะเปิดโอกาสให้ทำตามที่อยากทำ  ได้แค่ไหน  พอใจแค่นั้น  จึงไม่มีความกดดันทั้งหลานและปู่หรือทั้งผู้เรียนและผู้สอน
ผึ้งชอบออกไปวิ่งเล่นกับน้องหรือเพื่อนๆ  แต่ว่างๆ ก็จะมายืนอ่านเรื่องที่เขียนปิดไว้ข้างฝาผนัง  พฤติกรรมอย่างนี้ส่งเสริมให้ผึ้งสามารถอ่านหนังสือที่เรียนผ่านมาได้แน่นขึ้น  ความแม่นยำต่อคำที่อ่านมีผลต่อการที่จะเรียนรู้คำใหม่ได้
ผมจะสอนผึ้งเป็นคำๆ  ไม่เน้นการผสมคำ  การอ่านผันคำ  เพราะเด็กๆ  แรกเริ่มเรียนจะจำภาพส่วนใหญ่ยากกว่าส่วนย่อย  จำเป็นคำๆ  จะจำได้ดีกว่าสอนผสมคำ  และผมคิดว่าการเขียนหนังสือคือการวาดรูป  ขณะที่ผึ้งกำลังลากเส้นลายคำนั้น  คือผึ้งกำลังวาดอักษรนั่นเอง  ผมจึงวางดินสอสีไว้หลายๆ สี  ผึ้งอยากจะวาดรูปปลา  อยากจะเขียนคำเขียนด้วยดินสอสี  เธอมีสิทธิ์ทำได้ตามใจชอบ  เพราะโลกแห่งการเรียนรู้  ผมมอบให้เป็นสมบัติของเด็ก
ท่านผู้อ่านที่เคารพ  เชื่อไหมว่าวันนี้ผึ้งอายุได้ 5 ขวบกว่า  แต่สามารถอ่านหนังสือเล่มเล็กๆ ที่คุรุสภาพิมพ์เผยแพร่ได้มากกว่า 50 เล่ม  หนังสือแบบเรียนภาษาไทยของชั้น ป.1  ที่กรมวิชาการ  กระทรวงศึกษาธิการ  กำหนดเป็นแบบเรียนนั้น  ผึ้งก็อ่านได้เกือบหมดทั้งเล่ม
เด็กน้อยเริ่มต้นด้วยวิธีการง่ายๆ  ที่ปู่บ้าง  คุณพ่อคุณแม่ของผึ้งช่วยกันสอนบ้าง  ณ  วันนี้เป็นเด็กที่สามารถอ่านออกเขียนได้เป็นที่น่าพอใจของ  ปู่ย่า  และคุณพ่อคุณแม่ของผึ้ง  เราเริ่มต้นจาก  ปลา  ดู  ปลา  ดังที่ได้เล่ามาข้างต้นนั้นแหละครับ
ธรรมชาติ  ความจริง  สิ่งที่พบเห็น  คือบทเรียนที่แท้จริงของมนุษย์  ผมเชื่ออย่างนี้  ผมจึงนำความจริงจากชีวิตจริงที่ผึ้งพบเห็นมาเป็นเรื่องสอน  และแท้จริงแล้วผมนำวิธีการนี้สอนเด็กๆ  ลูกศิษย์ของผมทุกคนที่ผ่านมาระหว่างที่ดำรงชีวิตแห่งข้าราชการครูด้วย
ชีวิตความจริง  ธรรมชาติ  สิ่งที่พบเห็น  คือสื่อง่ายๆ ที่ครู  พ่อ  แม่  ผู้ปกครองนักเรียนทุกคนสามารถนำมาใช้สอนบุตรหลานของตนได้  โดยไม่ต้องเสียเวลานั่งผลิตสื่อการสอนให้ยุ่งยากลำบากใจ
ผมพบความจริงจากชีวิตการสอนตลอดเวลาที่ผ่านมาว่า  ภาพประทับใจที่เกิดขึ้นกับเด็กๆ  นั้น  ถ้าเรารีบนำมาสอนเด็กจะสนใจเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วกว่าบทเรียนจากหนังสือแบบเรียน  ซึ่งเป็นบทเรียนที่ห่างไกลจากชีวิตแห่งความจริงของเด็ก
 

รวบรวมจากหนังสือวารสาร สานปฏิรูป

อ่านทั้งหมด ได้ที่นี่ครับ (มี 7 ตอน) https://sites.google.com/site/chatreesamran/hnangsux/doc

by Suppakrit on Aug 10, 2012

Posted in ไม่มีหมวดหมู่

ติดต่อลงโฆษณา
Medium Rectangle Sidebar 1st
Fixed 1,000 baht/month
Slot 300 baht/month

ป้ายคำค้น
No tags found

ในหมวดเดียวกัน
ป้ายคำค้นเดียวกัน
No related posts found
โปรเจ็กต์ของผู้แต่ง