สอนอย่างไร ให้เกิดพฤติกรรมการเรียนรู้ 2 ชาตรี สำราญ
ติดต่อลงโฆษณา
Leaderboard in Content 1st
Fixed 1,000 baht/month
Slot 300 baht/month

จะเห็นได้ว่าเด็กพยายามบอกความรู้สึกนึกคิดของเขาให้เราได้ร่วมรับรู้ในข้อเขียนผมเก็บงานเด็กๆ  ทุกชิ้นไว้ในกระเป๋าถือภายหลังจากอ่านงานของเขาแล้ว  ผมถือว่างานเขียนของเด็ก  คือ  ครูของผม
            งานเขียนของเด็กๆ คือ  ตำราวิชาการที่ยิ่งใหญ่  สำหรับผม  ผมจะใช้เวลาว่างอ่านงานของเด็กๆ  ทบทวนบ่อยครั้ง  หาจุดบกพร่องทางภาษา [break]

            ดูว่า  คำใดที่เด็กเขียนผิด
            ดูว่า  ทำไมเขาจึงเขียนผิด
            ดูว่า  ทำไมเขาจึงไม่นำคำบางคำมาใช้
            ดูว่า  ทำไมเขาจึงเขียนอย่างนั้น
            ถ้าเราศึกษางานของเด็กให้เราจะพบจุดบกพร่องในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนของเรา
            เด็กๆ  จะเขียนสิ่งที่เขารู้  และไม่เขียนสิ่งที่เขาไม่รู้
            นี่คือครูของผม  เพราะฉะนั้นคำใดที่เด็กน่าจะนำมาใช้  แต่เขาไม่เขียนแสดงว่าเขาไม่รู้ 
            ด.ญ.ตารอฟะห์  หะยียูโซะ  เขียนเรื่องปลวก  ใช้คำว่าพวกเขาก็จะนั่งด้วยกัน  แทนคำว่าอยู่ร่วมกัน  แสดงว่า  ตารอฟะห์ไม่รู้คำนี้ดีพอ  เขาจึงไม่ใช้  หรือเธอใช้คำว่าพวกเขาทำรังทุกคน  แทนคำว่า  ทุกตัว  ก็แสดงว่าเขาไม่รู้  ผมเคารพความไม่รู้ของเด็กๆ  ผมจึงต้องสอนให้เขารู้  เพื่อเขาจะได้รู้
            แต่ผมจะไม่สอนตอนนั้น  ผมจะหาโอกาสสอนในวันต่อไป  ผมจึงต้องเก็บงานของเด็กๆ ไว้  แล้วหาโอกาสอ่านงานของเขาในเวลาว่าง  เพื่อที่จะได้พัฒนาการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนต่อไป
            เด็กๆ จะเรียนรู้ในสิ่งที่เขาไม่ถูกให้เรียนรู้
            ผมสังเกตพบในขณะที่ผมสอนเด็ก  โดยไม่สอน  ปรากฏผลว่า  เขาเรียนรู้ได้ไวมากและจำได้นาน  แต่พอผมเคี่ยวเข็ญสอน  จ้ำจี้จ้ำไชสอนเขากลับนั่งคุยกัน  เขาล้วงโต๊ะค้นหาลูกแก้ว  เขาลุกขึ้นเดิน  ผมจึงปล่อยให้เด็กๆ เรียนโดยไม่สอน
            เพื่อนครูหลายคนถามผมว่า  ผมเตรียมการสอนอย่างไร  ผมบอกว่า  ผมเตรียมโดยไม่ต้องเตรียม  เขาไม่เข้าใจที่ผมพูด  จริงๆ แล้วเพราะผมพูดให้เขาไม่เข้าใจมากกว่า
            ผมไม่ได้เตรียมการสอนเป็นรายวัน  รายชั่วโมงและไม่ส่งแผนการสอนรายวันให้อาจารย์ใหญ่ล่วงหน้าเลย
            ผมเตรียมการสอนแบบมวลวิชา  คือ  เตรียมเป็นก้อนหรือเป็นหน่วยเล็กๆ  เช่น  สิ่งแวดล้อมธรรมชาติ  ผมแบ่งเป็นหน่วยๆ 
ลักษณะทั่วไปเกี่ยวกับเปลือกโลกที่พบเห็นในชุมชน การเปลี่ยนแปลงของดวงอาทิตย์  ดวงจันทร์  เมฆ  หมอก  ฝน ผมจะเตรียมเป็นหน่วยย่อยๆ  มีเนื้อหากิจกรรมก้อนโต  เพราะว่าถ้าเตรียมเป็นวันต่อวันนั้น  ขัดกับหลักความเป็นจริงที่กล่าวว่า
สอนแบบยึดเด็กเป็นศูนย์กลาง
สอนสิ่งที่เด็กอยากเรียน
            ผมจะเสนอมวลวิชาที่สอนให้เห็นเด่นชัดเป็นก้อนโตกิจกรรมเด่นชัดว่า  ทำอย่างไร  แค่ไหน  ใครเป็นผู้กระทำ  และรู้ผลการกระทำได้เด่นชัดอย่างไร 
            มวลประสบการณ์เหล่านี้  ถามเด็กว่าอยากเรียนอะไร  พอเด็กบอกสิ่งที่เขาอยากรู้  เราก็ดึงมวลประสบการณ์นั้นมาสอนเด็กก็สนุก  ครูก็ไม่ทุกข์ใจ  เพราะเราพร้อมแล้ว  เรามีอาวุธอยู่ในมือแล้ว
            แล้วเราก็สนุกกับกิจกรรมการเรียนการสอน  เพราะเราเตรียมสอนคนไม่ใช่สอนหนังสือตำราของเราอยู่ที่ตัวเด็ก  ตำราของเด็กอยู่ที่มวลประสบการณ์ที่เด็กจะต้องไปปะทะสัมพันธ์
            ผมเคยให้เด็ก  ดูข่าวในพระราชสำนักติดต่อกันหลายวัน  แล้วผมก็ให้เด็กออกมาเล่าเรื่องที่เขาดู  และเขียนให้ผมอ่าน  เด็กๆ เขียนว่า
 
ในหลวงของฉัน
ในหลวงช่วยเหลือคนไข้  และช่วยเหลือคนจน
ช่วยเหลือคนที่ไม่มีเสื้อผ้า  ช่วยเหลือเด็กน้อย
ในหลวงช่วยคนที่ไม่มีบ้าน  และไม่มีเสื้อผ้า
พระเจ้าแผ่นดินช่วยคนชาวเขา
 
ด.ญ.โรสนานี  กูวิง
ป.2  / 26 ธ.ค. 38
 
ในหลวงของฉัน
ฉันรักในหลวง  ในหลวงรักต้นไม้
ในหลวงรักป่า
ในหลวงรักสัตว์
ฉันรักในหลวง
ในหลวงรักยะลา
ฉันรักในหลวง
 
ด.ญ.อาหะมา  ประดู่
ป.2  / 26 ธ.ค. 38
 
ในหลวง
ในหลวงของคนไทย  ใจมีเมตตากรุณาต่อราษฎร
เวลาราษฎรภาคไหนมีคนเจ็บป่วย  ท่านจะนำ
แพทย์และยาไปรักษาคนเจ็บป่วย
 
ด.ญ.สมหมาย  บุญพามา
ป.2  / 26 ธ.ค. 38
 
 
 
 
 
พระเจ้าอยู่หัว
ฉันชอบดูโทรทัศน์ตอนกลางคืน  ฉันเห็นพระเจ้าอยู่หัว
กำลังปลูกต้นไม้  และกำลังแจกเสื้อผ้ากันอยู่  ถึงแม้ว่า
พระเจ้าอยู่หัวจะเหนื่อย  แต่พระเจ้าอยู่หัวก็รักทุกคนมาก
 
ด.ญ.สุดารัตน์  เจ๊ะเลาะ
ป.2  / 26 ธ.ค. 38
 
พระเจ้าอยู่หัว
ฉันดูพระเจ้าอยู่หัวในข่าว
พระเจ้าอยู่หัวเป็นคนดี
พระเจ้าอยู่หัวชอบปลูกต้นไม้
ฉันก็เห็นพระเจ้าอยู่หัวทุกวัน
 
ด.ญ.ซิตี้
ป.2  / 26 ธ.ค. 38
 
 
            ความรู้สึกของเด็กๆ  ที่มีต่อสิ่งที่เขาพบเห็นนั้น  ชื่อ  บริสุทธิ์  ถ้าเราบ่มเพาะสิ่งเหล่านี้ทุกๆ วัน  เขาก็เจริญเติบโตด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์  จิตใจที่สะอาดบริสุทธิ์จะเสริมพลังกายให้แข็งแรง
            ผมกล่าวมาตั้งแต่ต้นแล้วว่า  ผมเป็นคนโชคดี  โชคดีที่เป็นครูบ้านป่าดง  เป็นครูบ้านนอก  มีชีวิตสอนเด็กในป่าในดงตลอดมา  ชั่วชีวิตที่ผมเป็นครู  ผมเหนื่อยกับการสอนเด็กบ้านป่ามาตลอดเวลานั้น  ผมยังค้นพบชีวิตครูบ้านป่าได้ยังไม่หมดสิ้น  เชื่อไหมผมยังค้นพบชีวิตครูบ้านป่ายังไม่หมดสิ้น
            เพราะฉะนั้น  วันนี้ผมก็ยังคงเป็นครูบ้านป่าเช่นเดิม  เพื่อค้นหาชีวิตครูบ้านป่าให้พบ  หลายคนถามผมว่า  วิธีการสอนของผมนั้นจะสนองนโยบายการจัดการศึกษาของชาติหรือไม่
            ผมย้อนถามว่า  ชาติต้องการอะไร
            ผมก็ชี้ให้เขาดูว่า  หลักสูตรมุ่งพัฒนาให้ผู้เรียนมีความรู้  มีทักษะ  ค่านิยม  และการจัดการ  ทั้งนี้เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้  มีทักษะกระบวนการ  สามารถคิด  และแก้ปัญญา  เห็นคุณค่าของการเรียนรู้และสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันได้
            แล้วเขาก็ถามผมว่า  ผมจะรู้ได้อย่างไรว่า  ผมสามารถสอนให้เด็กคิด  และแก้ปัญหาได้ 
            ผมจึงยื่นผลงานของเด็กๆ  ให้เขาอ่านก่อนที่ผมจะอธิบายให้เขาฟัง  ผมเขียนบทกวีให้เด็กอ่าน  (ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4)  ว่า
            แสงแดด                      เจ้าแผดเจ้าเผา
            เจ้าช่างร้อนเร่า             แสบตาเหลือเกิน
            ข้าอยากกระโดด          โลดเต้นเพลิดเพลิน
            แสบตาเหลือเกิน          เจ้าแสงแดดจ้า
แล้วผมก็ถามว่า
น่าจะตั้งชื่อกลอนนี้ว่าอย่างไร? ครูเขียนถึงเรื่องอะไร? ทำไมครูจึงเขียนเรื่องนี้ เด็กๆ ตอบผมมาว่า
น่าจะตั้งชื่อกลอนนี้ว่า  แสงแดด ครูเขียนถึง  ความร้อนของแสงแดดที่มีอันตรายต่อสายตา ครูเขียนเพื่อให้รู้ว่า  ความร้อนของแสงแดดนั้นเหมือนไฟแผดเผา  และแสบตาเหลือเกิน  ถ้าเราไม่อยากร้อน  และแสบตา  ฉันมีวิธีง่ายๆ  คือต้องปลูกต้นไม้ให้มากกว่านี้เองก็หายร้อน  
ด.ญ.รอฮานา  ปาตี  อายุ 14 ปี
ชั้น ป.4  / 19 ม.ค. 38
 
อีกบทหนึ่งผมเขียนว่า
                        นกแก้วบินร่อน           แดดอ่อนอ่อนแสง
            นกแก้วแข็งแรง                       บินได้ไกลไกล
            บินหาอาหาร                            แม้นานแค่ไหน
            นกก็ตั้งใจ                                หาไปให้ลูก
เด็กเขียนตอบผมว่า
กลอนบทนี้ชื่อ  นกแก้ว ครูเขียนถึง  นกแก้วบินไปไกลๆ  เพื่อหาอาหารให้ลูกกิน  แม้จะใช้เวลานานแค่ไหน  นกก็ตั้งใจหาอาหารให้ลูกกินจนอิ่ม ครูเขียนเพื่อให้ลูกกตัญญูต่อแม่  เพราะแม่มีบุญคุณต่อเรามาก  แม่ดูแลเราจึงเติบโต  แม่หาทุกอย่างเพื่อให้ลูกกินให้อิ่ม  แม้ว่าแม่จะเหนื่อยแค่ไหน  แม่ก็ดูแลเรา  เราจึงเติบโต  เราควรตอบแทนบุญคุณพ่อแม่ในวันที่แม่แก่  
ด.ญ.รอฮานา  ปาตี  อายุ 14 ปี
ชั้น ป.4  / 20 ม.ค. 38
 
อีกคนหนึ่งเขียนว่า
ชื่อ  นกแก้ว ครูเขียนถึง  นกแก้วที่ขยันแข็งแรง  บินได้ไกลๆ  นกแก้วบินไปหาอาหาร  แม้จะนานแค่ไหน  นกแก้วก็ตั้งใจเพื่อหาอาหารให้ลูกกิน ครูเขียนเพื่อ  อยากให้นักเรียนรู้คุณค่าของนก  และอยากให้นักเรียนอย่าทำลายสัตว์  เพราะเรารักษาไว้เพื่อให้ลูกหลานได้ดูสัตว์ในวันข้างหน้า  
ด.ญ.ไซนะ  เจ๊ะเต๊ะ  อายุ 14 ปี
ชั้น ป.4  / 20 ม.ค. 38
 
ผมลืมบอกไปว่า  การสอนด้วยวิธีนี้  ผมเปิดโอกาสให้เด็กๆ  จับกลุ่มปรึกษากันได้  แต่ทุกคนจะต้องกลับมาเขียนด้วยตนเอง  แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมด้วยตนเองได้  จึงทำให้ข้อเขียนของเด็กแต่ละกลุ่มมีแนวคิดคล้ายๆ กัน  ในกลุ่มของตน  แต่แตกต่างกันในแต่ละกลุ่ม
แต่ก็มีบ่อยครั้งที่ผมให้นักเรียนอ่านเอง  เขียนเองและคิดเอง  โดยไม่อาศัยกลุ่ม  เด็กๆ ก็ทำได้ดีเช่นกัน  ผมเขียนว่า
ปัญหาต่างๆ
เราไม่ต้องกลัว
เราต้องเตรียมตัว
ผจญปัญหา
เด็กเขียนตอบผมมาว่า
ครูเขียนเรื่องเกี่ยวกับการผจญปัญหา ครูเขียนเพราะว่า  เพื่อให้นักเรียนต่อสู้กับปัญหาต่างๆ  แม้ว่าเราจะเก่งหรือไม่เก่ง  แต่เราต้องต่อสู้เพื่อศักดิ์ศรีของคนไทย  
ด.ญ.รุสนานี  ดาแซ
ชั้น ป.4  / 20 ม.ค. 38
 
            วันหนึ่ง (ผมจำวันที่ไม่ได้)  ต้นเดือนมกราคม  2538 (กะประมาณ)  ผมอ่านข่าวหนังสือพิมพ์  เรื่องการจับยาแก้ไอที่เชียงราย  ผมเลยสรุปข่าวให้เด็กๆ  อ่านบนกระดานดำ
            เชียงราย
            ตำรวจแม่สายจับพ่อค้าลักลอบขายยาแก้ไอ
            ปรากฏว่า  มีสารโค.เค.อีน (ฝิ่น)  ผสมอยู่ในตัวยา
            จึงขอเตือนให้ทุกคนระวังการซื้อยามากินเอง
ถามว่า
ข่าวเรื่องอะไร ข่าวนี้มีข้อความสำคัญอย่างไร จะส่งผลกระทบต่อเราอย่างไรบ้าง? เด็กเขียนตอบมาว่า
ข่าวเรื่อง  ตำรวจแม่สายจับพ่อค้าลักลอบขายยาแก้ไอ ข่าวนี้มีความสำคัญว่า  ยาแก้ไอมีสารโค.เค.อีน (ฝิ่น) ผสมอยู่ด้วย  จึงขอเตือนให้ทุกคนระวังการซื้อยากินเอง จะส่งผลต่อเราคือจะเกิดติดมันจนตาย  
ด.ญ.นูรีซัน  อิแต
ชั้น ป.4
 
อีกคนหนึ่งตอบว่า
มีข่าวเรื่อง  ขายยาแก้ไอ  ปรากฏว่ามีสารโค.เค.อีน  ผสมอยู่ด้วย ข่าวนี้มีความสำคัญ  เพราะขณะนี้มียาแก้ไขผสมฝิ่นขาย จะส่งผลต่อเราคือ  ถ้าเราซื้อยากินเองอาจถูกยาผสมฝิ่น  
ด.ญ.อาอีเสาะ  ลาเต๊ะ
ชั้น ป.4
 
            จะเห็นได้ว่า  ความคิดของคนนั้นย่อมแตกต่างกัน  แม้จะอ่านข่าวเดียวกัน  แต่จะแสดงความรู้สึก  หรือจับประเด็นข่าวมาแยกแยะได้ต่างกัน
            ผมเห็นว่า  การสอนเด็กให้เรียนรู้ในเรื่องดังกล่าวนั้นมีความสำคัญมาก  เพราะถ้าเด็กๆ  สามารถเข้าใจ  จับประเด็นเรื่องราวที่อ่าน  ที่ฟัง  มาวิเคราะห์แยกแยะรายละเอียดและสรุปเป็นความคิดที่ดีได้จะช่วยให้เด็กๆ  เข้าใจปัญหาต่างๆ ได้
            ถ้าเราไม่เขียนให้เด็กคิดเป็นระบบ
            เด็กก็จะเกิดพฤติกรรมทำตามเพื่อน
            สังคมปัจจุบันนี้  มีการเลียนแบบกันมากขึ้น  ทั้งด้านวัฒนธรรม  ข้อมูล  ข่าวสาร  ความรู้  และวัฒนธรรมที่เข้ามาอย่างรวดเร็ว  ทำให้เกิดพฤติกรรม  ดังนี้
            สังคมเมืองเลียนแบบสังคมต่างประเทศ
            สังคมชนบทแบบสังคมเมือง
                                    ส่งผล
            เกิดพฤติกรรมทันสมัย  แต่ไม่พัฒนา
ที่กล่าวว่า  ทันสมัย  แต่ไม่พัฒนานั้น  ขอยกตัวอย่าง  เช่น  เด็กๆ ในชนบทถือวิทยุฟังเพลง  พอถึงรายการข่าวสารคดี  จะปิดทันที  เขาจะเลือกฟังเฉพาะรายการเพลงเท่านั้น  ภาคความรู้จะไม่ใส่ใจ  นี้เรียกว่า  ทันสมัยแต่ไม่พัฒนา
            การจัดการเรียนการสอน  ก็เช่นกัน  แม้จะนำเทคโนโลยีใหม่ๆ  มาใช้ประกอบกิจกรรมการเรียนการสอน  แต่ทุกอย่างยังเน้นความจำ  เนื้อหา  ความรู้มากเกินไป  ก็เรียกว่า  ทันสมัยแต่ไม่พัฒนา
            การจัดการเรียนการสอน  ถ้าครูมัวแต่ยึดตำราเล่มเดียวที่ผลิตใหม่ๆ โดยลืมให้เด็กๆ  หัดเรียนรู้จากธรรมชาติ  เรียนรู้นอกห้องเรียน  เรียนรู้จากสิ่งที่รู้แล้วไปสู่สิ่งที่จะเรียนรู้ต่อไป  หัดสังเกตดิน  สังเกตแมลง  สังเกตความเปลี่ยนแปลงในท้องถิ่น  ก็เรียกว่า  ทันสมัยแต่ไม่พัฒนา
            หลักสูตรประถมศึกษา  ฉบับปรับปรุง  พ.ศ. 2533  นั้น  พัฒนาให้ทันสมัยมากยิ่งขึ้นแล้ว 
            ครูผู้สอนและนักเรียนจะต้องเปลี่ยนแปลงบทบาท  หรือพฤติกรรมการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้ทันสมัย  และพัฒนา  กล่าวคือ
ให้ได้สัมผัสเรื่องจริง  ชีวิตจริง ให้ได้หัดวางแผนต่างๆ ด้วยตนเอง ให้ได้ศึกษาวิเคราะห์  หาข้อสรุป  หรือแนวทางต่างๆ ให้ได้ลงมือปฏิบัติงาน  จัดทำรายงาน  เสนอผลงานพร้อมความรู้  ความคิดที่ได้จากการลงมือปฏิบัติงานนั้นๆ  แลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ให้ได้ใคร่ครวญปัญหาต่างๆ  ทางจริยธรรมวิเคราะห์ผล  และหาแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสม ให้ได้ทบทวนเกี่ยวกับตนเอง  การปฏิบัติงานเพื่อค้นหาแนวทางปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น  ไม่เข้าข้าง  หรือตำหนิตนเองจนเกินไป ผมว่าการจัดการศึกษายุคใหม่นั้น  ต้องพัฒนาเด็ก  ให้อ่านหนังสือหลากหลาย  ให้รู้จักเลือกอ่านหนังสือที่มีประโยชน์ต่อตนเอง  และผู้อื่น  แต่ไม่ใช่การท่องจำหนังสือเพียงอย่างเดียว  ต้องให้เด็กมีการทำงานร่วมกัน  ร่วมกันคิด  ร่วมกันทำ  ร่วมกันวิเคราะห์  ร่วมกันวิจัยข้อมูล  ร่วมกันกันอภิปราย  สรุปผลข้อค้นพบ  ต้องให้เด็กๆ เรียนด้วยความสนุก  โดยให้รู้จักหัดคิดเป็นระบบ  หัดสังเกตสิ่งต่างๆ  ให้เด็กเรียนรู้ชีวิตจากชีวิตจริงๆ  ของเด็ก
บทบาทของเด็กนั้นจะต้องทันสมันและพัฒนา  กล่าวคือ
บูรณาการสรรพวิชาเข้าด้วยกัน เรียนรู้เรื่องท้องถิ่นแล้วค่อยๆ ขยายออกสู่วงนอก เรียนเรื่องชีวิต  รู้จักตนเองมากกว่ารู้จักผู้อื่น เรียนเรื่องทำมาหากินที่เหมาะสมกับเรื่องของตนเอง เรียนเพื่อให้รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสังคม บทเรียนต้องไม่ยึดติดตำราเล่มเดียว บทเรียนต้องเปิดให้ผู้เรียนศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง หนังสือเรียนต้องมาจากการศึกษาค้นคว้าของผู้เรียน หนังสือเรียนของกรมวิชาการ  หรือสำนักพิมพ์อื่นๆ  เป็นเพียงหนังสือส่งเสริมการค้นคว้าของผู้เรียนเท่านั้น เมื่อผู้เรียน  เรียนแล้วจะเกิดพฤติกรรมการเรียนรู้ดังนี้
           
4. สามารถนำไปใช้ในชีวิตจริงได้ การนำไปใช้ 3. สามารถตัดสินความถูกต้องชั่วดีได้ การประเมินค่า 2. วิเคราะห์ส่วนย่อยของเรื่องที่เรียนรู้ได้ การวิเคราะห์ 1. ชี้หรือบอกความคิดเรื่องที่เรียนรู้ได้ การชี้ให้เห็น  
            ผมมั่นใจว่าเด็กไทยในอนาคตจะต้องเป็นเด็กที่ทันสมัย  และพัฒนาเพราะครูไทยในวันนี้ต้องเป็นครูที่ทันสมัย  และพัฒนา  คือ
            ครูต้องคิดอยู่เสมอว่ากำลังสอนคน  ไม่ใช่สอนหนังสือ  การสอนคนจะต้องรู้จักคนที่สอน  รู้ถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลของผู้เรียน  จัดกิจกรรมการเรียนการสอน  สนองความแตกต่างของคนไม่ยึดติดตำรา  ไม่ยึดติดห้องเรียน  ไม่ยึดติดเนื้อหา  ไม่สอนให้ท่องจำเนื้อหา
            ฝึกทักษะกระบวนการให้ติดตัวผู้เรียนไปแสวงหาความรู้  หาประสบการณ์  เพื่อพัฒนาตนเอง  พัฒนาครอบครัว  และพัฒนาสังคมได้
            ถ้าครูคิด  และทำตามที่คิดไว้ดังกล่าวข้างต้น  วันนี้เราจะมีเด็กๆ ที่มีพฤติกรรมการเรียนรู้  สิ่งที่เรียนรู้ได้อย่างดีครบถ้วน
            เราสอนเด็กวันนี้  เพื่อให้เกิดพฤติกรรมการเรียนรู้ในวันนี้
            ขอให้เราทำวันนี้  วันนี้  วันนี้  ให้ต่อเนื่องกันทุกๆ วันเถิดครับ  เพราะพฤติกรรมการเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อผู้เรียนได้กระทำจริง  ได้ปฏิบัติจริง
 
***********************
บรรณานุกรม
ชาตรี  สำราญ. เทคนิคการสอนโดยอาศัยสิ่งแวดล้อมเป็นสื่อ.    กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์คุรุสภา, 2537
            . สอนให้คิด  คิดให้สอน. กรุงเทพมหานคร :
       โรงพิมพ์คุรุสภา, 2537
ประเวศ  วะสี. เอาลูกรักคืนมา. กรุงเทพมหานคร :
       หมอชาวบ้าน. ม.ป.ป.
            . คุยกันเรื่องความคิดกับ ศ.นพ.ประเวศ  วะสี.
       กรุงเทพมหานคร : มูลนิธิโกมลคิมทอง, 2535
ศึกษาธิการ, กระทรวง กรมวิชาการ. สาระที่เปลี่ยนแปลงของหลักสูตรประถมศึกษา พุทธศักราช 2521 (ฉบับปรับปรุง  พ.ศ. 2533).  กรุงเทพมหานคร : ม.ป.ท.  .2533.
            . หลักสูตรประถมศึกษา พุทธศักราช 2521 (ฉบับ
       ปรับปรุง พ.ศ. 2533). กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์คุรุสภา.     2533.
 
********************

จากวารสาร วิทยบริการ
ปีที่5 ฉบับที่2  พค-สค 2538

by Suppakrit on Aug 21, 2012

Posted in ไม่มีหมวดหมู่

ติดต่อลงโฆษณา
Medium Rectangle Sidebar 1st
Fixed 1,000 baht/month
Slot 300 baht/month

ป้ายคำค้น
No tags found

ในหมวดเดียวกัน
ป้ายคำค้นเดียวกัน
No related posts found
โปรเจ็กต์ของผู้แต่ง