สอนคนให้สนใจภาษา 2 ชาตรี สำราญ
ติดต่อลงโฆษณา
Leaderboard in Content 1st
Fixed 1,000 baht/month
Slot 300 baht/month
การสอนภาษาไทยนั้น  อย่าสอนเป็นส่วนๆ  คือ   พูด พูด  พูด  เขียน  เขียน  เขียน  ฟัง  ฟัง  ฟัง  อ่าน  อ่าน  อ่าน  ต้องให้ทุกทักษะแต่งงานกันเป็นหนึ่งเดียว  สอนแบบคอนเสิร์ต  คือ  ทั้งร้อง  ทั้งรำ  ทั้งเต้น  ฟัง  พูด  อ่าน  เขียน  และคิดเป็นหนึ่งเดียวแสดงออกไปพร้อมๆ กันและสอนให้เป็นเรื่อง  เช่น  เรื่องสัตว์ป่าที่หายไป  เรื่องนี้กิจกรรมจะต้อง
สัมภาษณ์ผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้าน จดบันทึกคำสัมภาษณ์ นำเรื่องราวมาร่วมอภิปรายหาข้อสรุป บันทึกข้อสรุป เขียนรายงานหรือเขียนเรื่องส่งครู   [break] จะเห็นได้ว่ากิจกรรมทั้งหมดนั้น  เด็กๆ  ได้ลงปฏิบัติจริง  ได้ฝึกตั้งคำถาม  ฝึกมารยาทในการพูด  มารยาทในการฟัง  ฝึกความอดทน  สร้างคนให้เกิดลักษณะนิสัยที่พึงประสงค์  แต่สามารถแยกส่วน  คือ  ฟัง ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ พูด ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ เด็กจะไม่สนุก  ครูก็ไม่สนุก  นี่ได้ออกหมู่บ้าน  ได้เปลี่ยนจากห้องแคบๆ  ไปสู่โลกแห่งความเป็นจริง
ถามว่าแล้วไวยกรณ์จะสอนตอนไหน  ก็ตอนประเมินผลงานตอนปรับปรุงนั่นแหละ  มาวิจารณ์ข้อความกัน  ยกประโยคมาชี้ให้เห็น  แล้วมอบงานให้ไปแต่ประโยคที่ต้องการว่าจะเอาอะไรบ้าง  กริยา  กรรม  บุพบท  ทุกอย่างแทรกได้ทั้งนั้น  อย่าแยกส่วน
การให้นักเรียนเขียนเรื่องต้องให้รู้จักตั้งชื่อ  ถ้าให้เขียนเรื่อง  ลูกเป็ดที่หายไป  มรณะภัยจากยาเสพติด  หรือ  ผีใจดี  นางฟ้าใจร้าย  เรื่องแบบนี้เด็กจะเขียนแบบมีจินตนาการผสม  ถ้าตั้งชื่อเรื่องดิน  ประโยชน์ของดิน  เด็กจะเขียนแบบรายงานเชิงวิชาการ  เพราะชื่อเรื่องก็สำคัญต่อการเขียนเรื่องของเด็กๆ ด้วย  และอีกอย่าง  ตัวอย่างการเขียนเรื่องดีๆ  ควรให้เด็กๆ  อ่านบ่อยๆ  เด็กจะมีรูปแบบที่ดีและใฝ่หารูปแบบการเขียนเป็นแนวของตนเองได้  คนเขียนหนังสือต้องมีแนวการเขียนของตนเองจึงจะเขียนหนังสือได้
อีอย่างหนึ่งในปัจจุบันนี้  เด็กๆ ของเรา  ค้นคว้าหาข้อมูลมาเขียนไม่เป็นเพราะขาดการฝึกด้านนี้  ครูควรฝึกให้นักเรียนเขียนเรื่อง  โดยค้นคว้าจากหนังสือมีแหล่งอ้างอิงข้อมูล  มาเขียนมีบรรณานุกรม  และต้องสอนให้เด็กๆ รู้จักการวิเคราะห์วิจารณ์ตัดสินชี้ได้ว่า  ดีหรือไม่ดีอย่างไร  โดยมีหลักมีเกณฑ์ไม่ใช่มีความรู้สึก  จะตัดสินโดยรู้สึกว่าดี  ไม่ดี  ไม่ได้  ต้องบอดข้อมูล  ต้องบ่งบอกเกณฑ์ได้ว่า  ดีได้อย่างไร
สังคมปัจจุบันนี้  ขึ้นต้นด้วยข้อเท็จจริง  คือ  เท็จก่อน  หาความจริงทีหลัง  ต้องสอนให้เด็กวิเคราะห์ให้ได้ว่าอะไรจริง  ไม่จริง  เพราะหลักสูตรบ่งได้ชัดเจนว่า
“ต้องให้เด็กรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก”  นี่คือจุดหมายของหลักสูตร  ในหลักสูตรนั้นบอกด้วยว่า  จะให้เด็กรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงได้  ต้องดูจุดหมาย  หลักสูตรข้อหน้า 1
“สามารถวิเคราะห์  สาเหตุและเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับตนเองได้อย่างมีเหตุมีผล  ด้วยทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์”
และจะสอนให้บรรลุจุดหมายที่หลักสูตรวางไว้ได้นั้น  ต้องเปิดไปดูหน้า 4 ของหลักสูตรที่บอกไว้ในแนวดำเนินการ  เช่น
จัดการเรียนการสอนให้ยืดหยุ่นตามเหตุการณ์และสภาพท้องถิ่น จัดการเรียนการสอนโดยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง จัดการเรียนการสอนโดยบูรณาการ จัดการเรียนการสอนโดยเน้นทักษะกระบวนการเรียนรู้ จัดการเรียนการสอนโดยให้ผู้เรียนปฏิบัติจริง จัดการแก้ไขข้อบกพร่องของผู้เรียนอย่างต่อเนื่อง ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นอย่างย่อ  ต้องดูของจริงในหลักสูตรซึ่งยาวกว่านี้  และมากข้อกว่าจะเห็นได้ว่า  ถ้าเปิดโอกาสให้เด็กปฏิบัติจริงโดยบูรณาการสอนและยึดเด็กเป็นศูนย์กลางแล้ว  เราก็จะได้ผลงานที่ดีจากเด็ก  เมื่อเด็กทำงานเสร็จก็ส่ง ป.01  ให้เด็กดูว่างานของเขาที่ทำไว้ผ่านจุดประสงค์อะไรและจุดไหน 1  หรือ 2  หรือ 3  จุดประสงค์ใดบ้างที่ไม่ผ่าน  ให้ร่วมกันคิดว่า  จะทำอย่างไรจึงจะผ่านทำเรื่องอะไรต่อไปอีกให้เด็กคิดและทำต่อไป  นั่นคือ  สอนให้เด็กรู้จักจัดการ
และหลักสูตรการสอนเพื่อให้เด็กๆ  เกิดการเรียนรู้นั้น  เด็กต้องค้นคว้าหาความรู้  เรียกว่า  ศึกษาหาข้อมูล  พอได้ข้อมูลมาก็ร่วมกันวิเคราะห์  อภิปราย  เราเรียกว่า  ข้อมูลความรู้  เมื่อเด็กๆ ได้รับข้อมูลความรู้แล้ว  นำข้อมูลความรู้มาเขียนเป็นเรื่องราวต่างๆ  ก็เกิดเป็นความรู้ที่ยังอยู่ในใจของเด็ก  ทำบ่อยจนเป็นทักษะถาวรก็จะเป็นปัญญา  นี่คือการเรียนแบบให้เกิดความรู้ที่เราต้องการพฤติกรรมการเรียน
 
ตัวอย่างกิจกรรมสอนให้เด็กฝึกปฏิบัติจริง
1. ลองให้เด็กดูดวงจันทร์  วาดรูปดวงจันทร์ทุกคน  บันทึกวันที่ดู  ขึ้น  แรม  เหตุการณ์  หรือปรากฏการณ์ทางอากาศ  พื้นดิน  อย่างไร
-   ฝึกการบันทึก
-   ฝึกการสังเกต
-   ฝึกการสนใจอุตุนิยม
-   ฝึกการวิเคราะห์วิจารณ์
2. ดูดวงอาทิตย์  สีดวงอาทิตย์ตอนเช้า  จะเปลี่ยนไปตามฤดูกาลไหม
3. ดมกลิ่นต้นไม้ต่างเวลา  เพื่อฝึกสัมผัสธรรมชาติ
4. ดมกลิ่นใบไม้ต่างเวลา  เพื่อสร้างจิตสำนึกต่อธรรมชาติ
 



จากวารสารวิทยบริการ 
ปีที่ 9 ฉบับที่ 2 พค - สค 2541

by Suppakrit on Aug 21, 2012

Posted in ไม่มีหมวดหมู่

ป้ายคำค้น
No tags found

ในหมวดเดียวกัน
ป้ายคำค้นเดียวกัน
No related posts found
โปรเจ็กต์ของผู้แต่ง