มาจัดคอนเสริต์ทางภาษากันเถิด ชาตรี สำราญ
ผมยอมรับว่าผมเห็นความสำคัญของนักเรียนในการเป็นผู้จัดการเรียนการสอนเอง  เพราะถ้าครูเปิดโอกาสให้เด็กๆ  ได้แสดงออก  ได้แสดงความคิดเห็น  และได้ลงมือกระทำในสิ่งที่พวกเขามองเห็นแล้ว  มั่นใจได้ว่าเด็กไทยในอนาคตจะเป็นเด็กที่มีความมั่นใจในตนเอง ความมั่นใจในตนเอง  เป็นคุณสมบัติที่นักการศึกษาหลายประเทศต้องการปลูกฝังให้เกิดขึ้นในจิตใจของเด็กๆ ถามว่า  “แล้วเราจะจัดการเรียนการสอนอย่างไร  ให้เด็กเกิดความมั่นใจในตนเองได้”  นี่คือประเด็นที่ผมครุ่นคิดอยู่ตลอดเวลา  และวิธีการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่จะนำเสนอต่อไปนี้  เป็นประเด็นหนึ่งที่ผมเชื่อว่า  จะตอบปัญหาดังกล่าวข้างต้นได้
นั่นคือ  เปิดโอกาสให้เด็กๆ  คิดเรื่องที่จะเรียนรู้กันเอง  ปล่อยให้เด็กนำระบบการเรียนรู้แบบกลุ่มเข้ามาใช้  ให้เด็กเลือกประเด็นปัญหามาร่วมศึกษาค้นคว้าคำตอบด้วยตนเอง  แล้วร่วมกันตอบปัญหาเล่านั้น  จะเห็นได้ว่าแต่ละกลุ่มนั้นจะมีปัญหาต่างกัน  ความหลากหลายของปัญหาการเรียนในชั้นเรียนคือ  วงคอนเสิร์ตที่เกิดขึ้นในชั้นเรียน  วงคอนเสิร์ตจะมีนักร้อง  นักดนตรี  หางเครื่อง  ผู้กำกับฉาก  ผู้กำกับเรื่อง  ผู้กำกับแสง  ผู้เขียนบท  มือกล้อง  แต่ทุกคนทำงานเป็นกลุ่มเป็นคณะเดียวกัน  ทุกคนจะต้องประสานสามัคคีกัน  งานจึงจะสำเร็จได้ด้วยดีฉันใด  ในห้องเรียนก็ฉันนั้น  แม้ว่าต่างกลุ่มต่างศึกษาค้นคว้าหาข้อมูลนำมาเขียนก็ตาม  แต่ทุกกลุ่มจะต้องมีข้อตกลงร่วมกัน ภายในกลุ่ม  และระหว่างกลุ่ม  นั่นคือทุกคนจะต้องสื่อสารซึ่งกันและกัน  พฤติกรรมการสื่อสารต่อรองซึ่งกันและกันก็เป็นพฤติกรรมที่พึงประสงค์  เป็นพฤติกรรมที่ต้องการให้เกิดขึ้นในตัวเด็กๆ  ทุกๆ คน  เพราะความสามารถสื่อสารต่อรองเป็นสุดยอดของทักษะในการใช้ภาษา  และพฤติกรรมแห่งความมั่นใจของแต่ละคน  และผู้ที่จะต่อรองกับผู้อื่นเข้าใจและเห็นใจผู้อื่น  อีกทั้งจะต้องเป็นผู้ยอมรับฟังความคิดเห็น  และพร้อมที่จะเสนอความคิดเห็นของตนเองให้ผู้อื่นฟังด้วย  ทั้งหมดนี้คือพฤติกรรมที่พึงประสงค์ให้เกิดขึ้นแก่ผู้เรียน
ภาพคอนเสิร์ตในห้องเรียนนั้นเราจะเห็นได้ชัดเจนว่า  เด็กกลุ่มหนึ่งกำลังตั้งปัญหาถามว่า  “พรุ่งนี้เรายังมีอากาศหายใจอยู่อีกไหม”  แต่อีกกลุ่มหนึ่งกำลังสงสัยว่า  “พรุ่งนี้แมลงสาปจะครองเมืองหรือไม่”  และอีกกลุ่มหนึ่งกำลังร่วมอภิปรายกันว่า  “แม่น้ำจะเน่าหรือไม่ในวันพรุ่งนี้”  นี่คือประเด็นที่เด็กๆ  เขาจัดการ  หรือกำหนดที่จะเรียนรู้  ครูต้องปล่อยให้เด็กๆ  เขาไปหาวิธีการเรียนรู้ด้วยตนเอง   ผู้เรียนบางกลุ่มจะต้องเดินไปตามริมฝั่งคลองสำรวจท่อระบายน้ำ  สำรวจน้ำ  สำรวจแหล่งทิ้งน้ำโสโครก  แต่บางกลุ่มยุ่งอยู่กับการสังเกตวงจรชีวิตแมลงสาป  ในขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งกำลังพิสูจน์กลุ่มพิษในอากาศอยู่  ความวุ่นวายที่น่ารักจะพบเห็นอย่างเด่นชัดในชั้นเรียน  เพราะบางกลุ่มกำลังนำข้อมูลที่ค้นพบมาร่วมวิเคราะห์  วิจารณ์  หาข้อสรุป  เพื่อเขียนรายงาน  บางกลุ่มเดินหายออกจากห้องเรียนไปค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมจากห้องสมุด  บางกลุ่มกำลังวาดฉากละครเพื่อที่จะแสดงละครเวที  สิ่งเหล่านี้คือ  ชีวิตให้แห่งการเรียนรู้  ที่จะนำลีลาการเรียนการสอนที่ผู้เรียนสนุกและเกิดความสุขแก่ผู้สอนด้วย
กระบวนการเรียนการสอน  หรือขั้นตอนของการเรียนจะพัฒนาขึ้นตามลำดับไปดังนี้คือ
 

ข้อมูล  จากปัญหาที่เด็กๆ  ร่วมกันตั้งขึ้นนั้น  เด็กย่อมมีข้อมูลมาก่อน  แต่ข้อมูลที่มีอยู่นั้นเป็นข้อมูลดิบที่เด็กจะต้องดำเนินการต่อ ข้อมูลความรู้  เมื่อมีข้อมูลดิบอยู่ในมือ  เด็กก็ต้องไปค้นคว้าหาความรู้มาเพื่อมาสู่การวิพากษ์วิจารณ์ในกลุ่ม  ก็จะกลายเป็นว่าทุกคนมีข้อมูลความรู้ ความรู้  จากข้อมูลความรู้ที่ทุกคนร่วมกันแสวงหา  ร่วมกันอภิปราย  และสรุปผลได้แล้วก็จะกลายเป็นความรู้ที่ทุกคนได้รับ ปัญญา  เมื่อทุกคนมีความรู้และนำความรู้นั้นมาใช้ประโยชน์ในการเขียนรายงาน  อภิปราย  บรรยาย  เขียนบทละคร  แสดงละคร  จัดทำเป็นหนังสือเล่มเล็กผลัดเปลี่ยนกันอ่าน  เด็กๆ ก็จะเกิดปัญญาจากการเรียนรู้ในเรื่องนั้น  
 
 
 
แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่า  เด็กเกิดการเรียนรู้
           
เมื่อทุกคนแสดงพฤติกรรมการรู้ให้เห็นด้วยการร่วมอภิปราย  ซักถามปัญหา  แสดงละคร  เขียนรายงาน  สร้างหนังสือเรียนเขียนด้วยเด็กมาแล้ว  ครูก็ยื่นสมุดรายงานประจำตัวนักเรียน (ป.01)  ให้นักเรียนทุกคนพิจารณารายการจัดประสงค์การเรียนรู้ว่า  จุดประสงค์ใดที่ตนเองเรียนรู้ผ่านได้  แล้วก็ลงประเมินในข้อนั้น  มีจุดประสงค์ใดที่ยังไม่ผ่านบ้าง  ก็บันทึกไว้  แล้วมาร่วมกันพิจารณาแสดงความคิดเห็นและบันทึกความรู้สึกไว้  แล้วทุกคนมาคละกลุ่มกัน  ร่วมพิจารณาจัดทำเรื่อง (Theme)  ใหม่  ที่จะเรียนรู้ต่อไป  เพื่อจะให้บรรลุจุดประสงค์การเรียนรู้
จะเห็นได้ว่า  คอนเสิร์ตการเรียนรู้เรื่องที่ผมนำเสนอนี้จะครอบคลุมไปถึงการสร้างเรื่องที่จะเรียนรู้  ซึ่งสนองความต้องการของผู้เรียน  ตามทฤษฎีการจัดการเรียนการสอนโดยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลางสู่การประเมินตนเองของผู้เรียนด้วย  นั่นคือการสร้างพฤติกรรมการเรียนให้ผู้เรียนรู้จักตนเอง  การรู้จักตนเองนั้นย่อมสร้างความมั่นใจในตนเองได้  ถ้าฝึกบ่อยๆ  นักเรียนก็จะเกิดเป็นวัฒนธรรมการเรียนรู้ที่ส่งผลสู่พฤติกรรมการใฝ่รู้ใฝ่เรียน  และสั่งสมเป็นบารมีมากขึ้น  ก็จะกลายเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ต่อไป
จะสังเกตได้ว่า  งานของเด็กที่สำเร็จขึ้นมานั้น  จะสามารถสะท้อนภาพของเด็กแต่ละคนออกมาได้อย่างชัดเจน  จัดเป็นตัวอย่างของเด็กแต่ละคนได้  และสามารถนำเข้าสู้แฟ้มสะสมผลงานของตนเองได้อย่างดี
แต่มีปัญหาอยู่ตรงนี้  ตรงที่ทุกครั้งผมนำเรื่องนี้ไปบรรยายมักจะได้รับคำถามว่า  “แล้วเนื้อหาวิชาในหนังสือเรียนจะทำอย่างไร”  ผมอยากจะตอบว่า  ตำราวิชาการแต่ละเล่มนั้นบรรจุไว้แต่เรื่องเก่าๆ  ถ้าเป็นเนื้อก็เป็นเนื้อหมัก  เน่า  แห้ง  เค็ม  เนื้อดอง  หาใช่เนื้อสดที่เพิ่งล่ามาได้  ท่านจะรับประทานเนื้อหมักดอง  หรือเนื้อล่าได้มาสด  ถ้าต้องการอย่างหลังนั้น  จะต้องศึกษาจากข่าว  จากบทความ  จากสื่อสิ่งพิมพ์รายวัน  การที่เด็กๆ มีโอกาสค้นคว้าหาความรู้ใหม่ๆ  จากสื่อสิ่งพิมพ์  จากข่าวโทรทัศน์  จะเป็นความรู้ใหม่ๆ  สดเท่าที่รู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกได้  ซึ่งตรงกับจุดประสงค์ของหลักสูตรที่ระบุไว้ว่า  ให้ผู้เรียนมีคุณลักษณะในเรื่อง
“มีความรู้  ความเข้าใจเกี่ยวกับตนเอง  ธรรมชาติ
สิ่งแวดล้อม  และการเปลี่ยนแปลงของสังคม”
คุณลักษณะดังกล่าวนี้  จะพึงมีได้ในตัวเด็กๆ นั้น  ก็ต้องเปิดโอกาสให้เด็กออกไป  ค้นหาเนื้อ  เพื่อจะได้เนื้อหา  ที่เป็นสาระมาอภิปรายสรุปผลเกิดเป็นความรู้ขึ้นมา  ไม่ใช่ไปท่องจำจากตำรา  แต่ตำราวิชาการนั้นก็ต้องนำมาศึกษาด้วย  เพราะสรรพวิชาต่างๆ  ย่อมมีที่มาแหล่งค้นคว้าจากห้องสมุด  ตำราเก่าๆ  คือ  แหล่งที่มาของใหม่ๆ  เด็กจะต้องเรียนรู้ทั้ง 2 ทาง  การเรียนรู้โดยรอบจะช่วยให้รอบรู้  ผู้ที่จะรอบรู้ได้ต้องรู้จัก  รู้จริง  จนกระทั่งรู้จริงในสิ่งนั้นๆ
เด็กยุคใหม่จะต้องเป็นเด็กที่รอบรู้  ด้วยวิชาการแหล่งเรียนรู้มากกว่าท่องจำจากตำรา  แล้วนำมาทำข้อสอบ
คอนเสิร์ตชีวิตในห้องเรียนที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น  จะสามารถบูรณาการทักษะการเรียนรู้ของกลุ่มวิชาภาษไทยได้เป็นอย่างดี  เพราะผู้เรียนจะต้องผ่านพฤติกรรมทักษะการฟัง  การพูด  การอ่าน  การเขียน  การคิด  และกระบวนการกลุ่ม  อีกทั้งในขณะที่กลุ่มร่วมเรียนรู้นั้นย่อมจะต้องมีปัญหาแทรกซ้อนเข้ามา  ทุกคนก็จะต้องร่วมกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น  กระบวนการแก้ปัญหาก็ย่อมเกิดขึ้นในใจของเด็กๆ  ความรู้ความสามารถในการทำงาน  การจัดการ  และทักษะกระบวนการก็ย่อมเกิดขึ้นด้วย  สิ่งเหล่านี้คือพฤติกรรมที่เราต้องให้ปรากฏในตัวผู้เรียนใช่ไหม
นี่คือความมั่นใจในความเชื่อที่ผมมีอยู่ต่อเทคนิค  การจัดการเรียนการสอนในรูปแบบ  คอนเสิร์ตการเรียนรู้  ดังที่ได้เสนอมาทั้งหมด

จากวารสารวิทยบริการ
 ปีที่9 ฉบับที่ 1  มค-เมย 2541


by Suppakrit on Aug 21, 2012

Posted in ไม่มีหมวดหมู่

ติดต่อลงโฆษณา
Medium Rectangle Sidebar 1st
Fixed 1,000 baht/month
Slot 300 baht/month

ป้ายคำค้น
No tags found

ในหมวดเดียวกัน
ป้ายคำค้นเดียวกัน
No related posts found
โปรเจ็กต์ของผู้แต่ง