ทำไมเราจึงโกรธเวลาลูกล้ม
ไม่รู้คนอื่นเป็นแบบผมบ้างหรือเปล่า บางทีเวลาลูกล้ม เราจะโกรธมาก ยิ่งตอนที่บอกให้ระวังแล้ว ไม่ฟัง ไม่ระวังนี่ยังยิ่งโกรธมากเป็นพิเศษ ซึ่ง ณ เวลานั้น ลูกน่าจะต้องการคำปลอบใจมากกว่าถูกโกรธ แต่เรามักทำตรงข้าม ทำไมหนอ ผมจะลองตอบคำถามนี้ดู หลังจากเฝ้าสังเกตการโกรธลูกมาหลายปี 
 


คือมีเหตุการณ์ 2 -3 เรื่องที่นำมาสู่เรื่องนี้ 
 
1 คือผมมักถูกแฟนโกรธเวลาที่ผมโกรธลูกและดุลูกเสียงดัง ผมข้องใจมาก ทำไมแทนที่จะอยู่ข้างเรา ดูสิลูกทำไม่ดี (ในที่นี่น่าจะหลายถึงไม่ถูกใจเรา) และน่าจะเข้าใจเราสิ ว่าทำไมเราถึงโกรธลูก ทำไมถึงถูกโกรธแทน.....เศร้า
2 ผมสังเกต ครอบครัวที่เลี้ยงดูลูกเป็นอย่างดี ลูกมีพัฒนาการดี มีความสามารถ เก่งในด้านต่าง ๆ แต่บางทีจะมีคนพูดถึงลับหลังจากการพบเจอสถานการณ์ ที่พ่อ แม่ของเด็กกำลังดุ ว่ากล่าวลูกอย่างรุนแรง ประมาณว่าฉากหน้าดูดี เบื้องหลังนี่ ดุว่าลูกรุนแรงมาก ผมก็กลับมานึกถึงตัวเอง ว่ามันมีหลายสถานณ์ที่ผมก็ปรี๊ดลูกแบบ รุนแรงมาก คือคนที่อยู่ในสถานการณ์เห็นก็คงตกใจ หรือถ้าเป็นคนที่รู้จักห่าง ๆ ติดตามพัฒนาการลูกผม ก็คงคิดต่อว่าผมแบบข้อ 1 เหมือนกัน หรือเวลาเรามองคนอื่นปฎิบัติต่อลูกเขาเองในบางครั้ง เราก็คิดในใจว่าเรื่องแค่นี้ไม่เห็นน่าจะต้องโกรธลูกขนาดนี้เลย ซึ่งจริง ๆ เราก็อาจจะเป็นเหมือนกันบ้างแต่ไม่รู้ตัว คือมีสถานการณ์ที่ถูกคนอื่นมองอย่างนั้นเช่นเดียวกัน 
3 ผมมักจะสังเกตตัวเองและเอาไปแซวพ่อแม่คนอื่นเสมอว่า ทีลูกคนอื่นนี่ ว่าไงค่ะ มีอะไรครับ แต่กับลูกตัวเองนี่ เรียกชื่อด้วยเสียงที่สูง และตะคอกว่า จะเอาอะไร คือกับลูกคนอื่นนี่ดูจะมีความอดทนมากกว่า พูดด้วยดีกว่า ประมาณว่าลูกตัวเองมักคาดหวังสูง ลูกคนอื่นทำใจได้ 
 
วันนี้มีเหตุการณ์ที่ผมได้มีโอกาสถอดเล่ากระบวนการทางอารมณ์โกรธให้ลูกฟังและคิดว่าเรียบเรียงได้พอเข้าใจแล้ว เลยถือโอกาสเล่าให้คนอื่นฟังด้วยครับ เผื่อจะช่วยกันแลกเปลี่่ยนว่าที่ผมคิดน่ะ มันพ่อจะเข้าเค้าไหม
 
วันนี้มีสถานการณ์ที่ลูกคับข้องใจ หงุดหงิด โกรธที่ตัวเองทำไม่ได้ คือกำลังเย็บผ้า หรือผูกปมด้ายนี่แหละ แล้วก็ได้ ปลดปล่อยความรู้สึกออกมา ผ่านคำพูดและท่าทาง และเรา พ่อกับแม่ก็ดูดซับอารมณ์ดังกล่าวได้อย่างรวดเร็วและสะท้อนกลับไป ด้วยการบอกให้อดทนฝึกฝนให้มากขึ้น (พร้อมกับอารมณ์ไม่พอใจแบบเดียวกับลูกเลย) ลูกคงเศร้าประมาณเขวี้ยงก้อนหินออกไปแล้วชนกำแพงกลับมาชนหน้าตัวเอง T T
 
ก่อนนอนมีโอกาสคุยกัน เลยแก้ตัวพร้อมคำอธิบายไปดังนี้ 
 
1 อารมณ์ต่าง ๆ ถ่ายทอดกันได้เวลาลูกโกรธหรือไม่พอใจแล้วแสดงออกมา พ่อแม่ก็ดูดซับเข้าไปเหมือนกัน
2 พ่อกับแม่รักลูกมาก ห่วงมาก เลยไม่อยากเห็นลูก เสียใจ ผิดหวัง สังเกตว่าเวลามีใครทำให้ลูกเจ็บพ่อแม่ก็มักจะโกรธคนนั้นเหมือนกัน ยิ่งคนที่ sensitive ก็จะยิ่งดูดซับและแสดงอารมณ์ได้มากและรวดเร็ว
3 ทีนี่สังเกตุไหมบางทีถ้าลูกหกล้มเอง บางทีพ่อกับแม่ก็โกรธมาก ทั้ง ๆ ที่ควรจะปลอบ ก็เพราะว่า เวลาลูกล้ม เจ็บ พ่อกับแม่ไม่อยากเห็นลูกเจ็บ เห็นแล้วโกรธ ซึ่งในสถานการณ์แบบนี้ คนที่ทำให้ลูกเจ็บก็คือตัวลูกเอง พ่อกับแม่ก็เลยโกรธลูก คือพ่อกับแม่ก็อาจจะโกรธในโชคชะตา สถานการณ์ หรือโกรธเฉย ๆ แต่บางทีเราก็มองหาคนผิดเพื่อโทษหรือโกรธ ซึ่งความซวยก็เลยตกมาที่ลูก คนเรามันก็แบบนี้แหละ มีงี่เง่า (silly) บ้าง 
4 ลูกสามารถทำได้ดีกว่าพ่อกับแม่นะ คือมันก็มีบางครั้งพ่อกับแม่ก็ทำได้ คือสังเกต มองให้เห็นถึงอารมณ์ตัวเอง เห็นความโกรธที่มันพลุ่งพล่านขึ้นมา อารมณ์พวกนี้ก็เหมือนกับเพื่อนหนูที่โผล่มาบ้างในบางที ให้ทำความรู้จัก มองให้เห็นไว้ พอรู้จักแล้วลูกจะได้รู้ว่าควรจะทำอย่างต่อไป


(ภาพจากการ์ตูน howl the moving castle)
 
พอเล่าเสร็จ ผมคิดว่าการที่ลูกรับรู้ตรงนี้น่าจะช่วยเราได้เยอะ เพราะว่า
 
1) พอถ่ายทอดเรื่องนี้ ผมเข้าใจได้ชัดขึ้น ก็หวังว่าจะจัดการอารมณ์ตัวเองได้ดีขึ้น 
2) ลูกจะได้เข้าใจเรา เข้าใจตัวเอง และถ้าเขารู้จักสังเกตอารมณ์ ความรู้สึกตัวเองตั้งแต่เล็ก ๆ ลูกน่าจะรู้ได้ทำได้ดีกว่าเรา ผมสังเกตว่า เราเติบโตมาในสังคมที่ปฎิเสธอารมณ์ในด้านลบ ทำให้มันถูกกดไว้ ไม่ได้สำรวจตรวจสอบทำความรู้จักเท่าที่ควร พอไม่รู้จักก็จัดการได้ไม่ดี
3) ถ้าบอกลูกไว้ถึงเวลาสำคัญ ลูกจะเป็นคนสำคัญที่จะเตือนเรา ผมสังเกต จากตัวเองและคนอื่น ๆ ว่าเวลาที่เราแย่ ผิดหวัง ลูกมักจะปลอบเราแบบที่เราเคยปลอบลูกและมันเป็นกำลังใจชั้นดี ทำให้เราฉุกคิด ซึ่งเรื่องนี้ก็เช่นเดียวกัน ถ้าถึงวันที่เราโกรธจนแทบจะเผาบ้าน ผมเชื่อว่าถึงเวลานั้นเขาจะเป็นคนบอกให้เราหยุดได้

จริง ๆ ผมก็คิดว่ามีคนที่ไม่เคยโกรธ โมโหลูกตอนล้ม หรือทำผิดพลาดอยู่นะ และผมก็อยากรู้ว่ามีคนแบบนี้อยู่หรือเปล่า เค้าคิดยังไง มันอยู่ในตัวเค้าเลยโดยไม่ต้องฝึกหรือเปล่า หรือว่าที่เป็นแบบผมนี่มันน้อย สายโหด  ยังไงก็เล่าให้ฟังบ้างนะครับ ว่าส่วนใหญ่เป็นแบบไหนกัน :P
 
 
 
 
 

by Patai on Oct 01, 2016

Posted in ไม่มีหมวดหมู่

ติดต่อลงโฆษณา
Medium Rectangle Sidebar 1st
Fixed 1,000 baht/month
Slot 300 baht/month

ป้ายคำค้น
No tags found

ในหมวดเดียวกัน
ป้ายคำค้นเดียวกัน
No related posts found
โปรเจ็กต์ของผู้แต่ง