บทเรียนจากการเล่นว่าว


ในบางเรื่อง บางเวลา เด็ก 3 ขวบก็รู้ดีกว่าผู้ใหญ่บางคน....... วันนี้มีเรื่องเล็ก ๆ ที่น่าประทับใจ คือเป็นวันที่เราเล่นว่าวได้ดีที่สุดในชีวิต ด้วยการแนะนำจากเด็ก 3 ขวบน่ะสิ 
[break]
ตอนบ่ายระหว่างอาบน้ำตกลงกันว่าจะไปเล่นสนามเด็กเล่น พอลงมาแต่งตัว สีฝุ่นเห็นผ้าม่านถูกลมพัดพลิวออกมาก็บอกว่า “It’s windy, Let’s play kite” ออ...ก็เข้าท่าแฮะ เอาก็เอา ชวนกันออกไปเล่นว่าว
ก่อนไปก็หยิบข้าวเกรียบว่าวไปด้วย ไปถึงจริง ๆ เจ้าตัวเอาแต่นั่งกินขนมดูพ่อเล่น -*- ดีเหมือนกัน หลัง ๆ ไม่ค่อยยอมวิ่งเลย สงสัยหลังจากเล่นครั้งแรกแล้ววิ่งไปเจอหมาหลังจากนั้นก็ไม่ค่อยยอมวิ่ง เราเล่นว่าวกันมา 4 – 5 ครั้งแล้ว ครั้งแรกก็พอมีล่มบ้าง สีฝุ่นเล่นเป็นส่วนใหญ่ วิ่งตลอดว่าวถึงลอย ครั้งต่อ ๆ มาก็มีลมบ้างไม่มีลมบ้าง มีครั้งหนึ่งไม่ค่อยมีลม สีฝุ่นก็ไม่ค่อยวิ่ง เลยไปเล่นสนามเด็กเล่นต่อ แต่พอสักพักมีลมพัดจนว่าวปลิวตก พ่อเลยหยิบมาเล่นอีก ออ....เข้าท่าว่าวก็ขึ้นดี เข้าใจว่าระหว่างนั้นก็คุยให้สีฝุ่นฟังว่าเนียะ วันนี้ลมแรงว่าวเลยขึ้นดีเลย ประมาณนี้มั้ง มาวันนี้เห็นลมพัดจนผ้าม่านปลิวก็เลยชวนเรามาเล่น กลายเป็นว่า วันนี้เป็นวันที่พ่อเล่นว่าวได้ดีที่สุด แทบไม่ต้องวิ่ง ว่าวก็ขึ้นสูง ลอยอยู่นาน คือพ่อก็เป็นเด็กในเมือง เคยเล่นว่าวก็ไม่กี่ครั้ง เล่นทีก็ต้องไปที่โล่ง ๆ ซึ่งโอกาสน้อยมาก โตหน่อยเป็นวัยรุ่นพอจะเข้าใจการควบคุมว่าว เข้าใจอะไรบ้างก็ไม่มีโอกาสเล่น มีช่วงนี้แหละที่ได้เล่นบ่อย ทำให้นึกเทียบความรู้เรื่องเวลาที่ควรเล่นว่าวของลูกในตอนนี้นี่ยังดีกว่าตัวเราในเดือนที่แล้วเสียอีก

ระหว่างเล่นว่าว แต่ละครั้งเราก็ค่อย ๆ ได้ข้อคิดนะ เราได้อะไรจากการเล่นว่าวกับลูกบ้าง
·        ปมใหญ่ๆ ที่แก้ไม่ได้เกิดจากปมเล็กๆ ที่ แก้ง่ายๆ ทั้งนั้น
·        จังหวะ เวลา (กาลเทศะ) เป็นสิ่งสำคัญ คือเล่นว่าวก็ต้องรอช่วงที่มีลม เหมือนชีวิตที่เวลาทำอะไรบางทีก็ต้องรอคอยเก็บแรงไว้ รอให้มีจังหวะดีก็รีบคว้า ดีกว่ากว่าตะบี้ตะบันทำโดยไม่ดูทิศทางลม ก็เหนื่อยเปล่า (ใครไม่เชื่อก็ลองไปเล่นว่าววันที่ไม่มีลมสิ วิ่งแทบตายขึ้นนิดเดียว)

ลูกทำให้เรานึกถึงหนังสือ How Children Learn ของ John Holt (http://www.arvindguptatoys.com/arvindgupta/hcl.pdf) แกสรุปไว้ตรงบทนำว่า หนังสือแกที่เขียนมาทั้งหมดสรุปได้ 2 คำคือ “ให้วางใจในตัวเด็ก” (trust children)
เราตัดส่วนที่แกขยายความมานิดหน่อยว่า Nothing could be more simple--or more difficult. Difficult, because to trust children we must trust ourselves--and most of us were taught as children that we could not be trusted. And so we go on treating children as we ourselves were treated.

เราว่าความไว้วางใจหรือเชื่อมั่นมันก็ไม่ได้มีเต็มเปี่ยมมาตั้งแต่ต้นหรอก เราก็ค่อย ๆ เพิ่มให้กับตัวเองและลูกก็ค่อย ๆ เพิ่มให้เรา

15 สิงหาคม 2555

*** ใครอยู่เชียงใหม่ ชวนเข้ามาแลกเปลี่ยนหรือหาเพื่อนเล่นให้ลูกที่ได้ที่ครับ group ChiangMai Toddler Homeshool ----> http://www.facebook.com/groups/307246329360790/