คำแนะนำในการเขียนแผนบ้านเรียนระดับอนุบาล
ติดต่อลงโฆษณา
Leaderboard in Content 1st
Fixed 1,000 baht/month
Slot 300 baht/month
ระดับอนุบาลไม่มีอะไรมาก เลี้ยงลูกธรรมดา ให้เค้าวิ่งเล่นออกนอกบ้าน ให้ร่างกายแข็งแรง เจอะเจอผู้คนบ้าง เน้นพัฒนาร่างกาย (เพราะสัมพันธ์กับสมอง) ยังไงก็ผ่านเกณฑ์อยู่แล้ว เพราะหลักสูตรเขียนมาได้กว้าง รองรับพัฒนาการของเด็กตามวัย

คำแนะนำในการเขียนแผนบ้านเรียนระดับอนุบาล (ภาษาทางการคือ แผนการจัดการศึกษาโดยครอบครัว) *** update วันที่ 15 มีนาคม 2561 ***** 

คือตอนนี้มีหลักสูตรใหม่ออกมา ทำให้คำแนะนำนี้ล่าหลังไปบ้าง แต่หลัก ๆ ให้ใช้แนวทางของ หลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2560 แทนนะครับ ถ้า link download ไม่ได้ให้พิมพ์ "หลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2560 หาใน google ดูครับ 


**** วันนี้ 5 ตุลา 2558 ผมกลับมาอ่านซ้ำหลังจากผ่านไปเกือบ 3 ปี  หลังจากเขียนแผนประถมให้ลูกเสร็จแล้ว ผมมีความเห็นเพิ่มเติมดังนี้ครับ (บทความนี้เขียนเมื่อ 23 เมษายน 2013) *****

คำแนะนำใหม่ของผม 

ระดับอนุบาลไม่มีอะไรมาก เลี้ยงลูกธรรมดา ให้เค้าวิ่งเล่นออกนอกบ้าน ให้ร่างกายแข็งแรง เจอะเจอผู้คนบ้าง เน้นพัฒนาร่างกาย (เพราะสัมพันธ์กับสมอง) ยังไงก็ผ่านเกณฑ์อยู่แล้ว เพราะหลักสูตรเขียนมาได้กว้าง รองรับพัฒนาการของเด็กตามวัย

วิธีที่ง่ายที่สุดในการเขียนแผนคือ กรอกข้อมูลให้ครอบถ้วน แล้วก็ลอกเนื้อหาของ หลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2560 ซึ่งเป็นคู่มือฉบับใหม่แทน (ส่วน คู่มือหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย 2546 เป็นฉบับเก่าไม่ได้ใช้แล้ว เอามาให้ดูเปรียบเทียบ) ใส่ลงไปให้เหมาะสมก็พอแล้วครับ ไม่ต้องคิดมาก ระดับปฐมวัยถือว่าเป็นหลักสูตรกว้าง ๆ ประเมินตามพัฒนาการเด็กไม่มีอะไรน่ากังวลครับ เจ้าหน้าที่ก็ชอบอ่านอะไรที่ตรงกับหลักสูตรกลาง เอาเวลาเขียนแผนนาน ๆ ไปอ่านหนังสือพัฒนาการเด็กดี ๆ ดีกว่า

แต่ถ้าใครอยากทำให้ตรงกับกับที่ตัวเองตั้งใจจะจัดกระบวนการเรียนรู้ให้ลูกแนะนำให้อ่านด้านล่างต่อ + อ่านการเขียนแผนระดับประถมเป็นไอเดียครับ

*********** ด้านล่างจากนี้เป็นคำแนะนำเขียนตั้งแต่ปี 2013 ตอนยังไม่ค่อยมีประสบการณ์ครับ *********

ก่อนอื่นอยากจะบอกก่อนว่าแผนที่ผมเขียนอาจจะไม่ได้เป็นตามที่เจ้าหน้าที่เขตอยากให้เป็นและเจ้าหน้าที่เขตแต่ละเขตก็อาจจะมีคำแนะนำหรือมุมมองต่อแผนที่เขาคิดว่าดีต่างกันไป ดังนั้นการรับฟังคำแนะนำและพูดคุยทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ในเขตของท่านก็น่าจะทำให้การยื่นแผนเป็นไปได้อย่างราบรื่น หากสนใจในรายละเอียดสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ “เรื่องเล่าจากการเขียนแผนบ้านเรียนระดับอนุบาล” หรือดูตัวอย่างแผนที่ผมเขียนได้ที่ “แผนบ้านเรียนเปื้อนฝุ่น

อย่างไรก็ตามแผนดังกล่าวก็ได้รับการอนุมัติก็น่าจะถือว่าใช้ได้ และนอกจากนี้อยากให้ถือคำแนะนำนี้เป็นแนวทางหนึ่งในการเขียนแผน ซึ่งจริง ๆ ต้องถือว่าเป็นการเล่าสิ่งที่ผมทำตอนเขียนแผนมากกว่า

เริ่มกันเลยครับ

ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าแผนที่เราจะทำนี้เป็นแผนในระดับอนุบาล คือเป็นแผนที่ใช้ตั้งแต่วันที่เราได้รับอนุมัติให้ทำบ้านเรียนจนถึงลูกจบอนุบาล เข้าใจว่าก็ประมาณลูก 6 ขวบ ดังนั้นจึงเป็นแผนระยะ 2 หรือ 3 ปีตามแต่อายุลูกตอนขอจด

เอกสารที่ควรมีไว้ตอนเขียนแผน

1) คู่มือการดำเนินงานการจัดการศึกษาโดยครอบครัว พศ. 2555 (ต่อไปขอเรียกว่า “คู่มือบ้านเรียน 2555”) [อย่างน้อยควรได้อ่านหน้า สารบัญ,บทที่ 3 หน้า 16 – 27, ภาคผนวก ข หน้า 41-57]

2) คู่มือหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย 2546 (ต่อไปขอเรียกว่า “หลักสูตรอนุบาล 2546”) [อย่างน้อยควรได้อ่านบทที่ 3 การจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาปฐมวัย หน้า 31- 41]

3) แบบฟอร์มเปล่าสำหรับกรอกข้อมูลทำแผน (copy มาจากหน้า 60 -62 ของ“คู่มือบ้านเรียน 2555”) 2555”

4) ตัวอย่างการเขียนแผนส่วนหนึ่งดูได้จาก คลังแผนการศึกษาบ้านเรียน

การเขียนแผน / การกรอกข้อมูลลงในแบบฟอร์ม

                พร้อมแล้วเราก็มาเริ่มเขียนแผนกันเลย ถ้าให้ดีให้พิมพ์ฟอร์มเปล่าไว้ถืออ่านประกอบไปด้วยจะทำให้เข้าใจมากขึ้นครับ ผมจะขอข้ามพวกขึ้นมูลพื้นฐาน หัวข้อที่คิดว่ากรอกกันได้ไม่มีปัญหา ไปตรงหัวข้อที่อาจมีข้อสงสัยเลยนะครับ เริ่มจาก

                หัวข้อที่ 4 จุดมุ่งหมายของการศึกษา หัวข้อนี้ค่อยข้างกว้างและไม่ได้ระบุว่าเป็นเป้าหมายในระยะสั้นตามระดับการศึกษาที่จัดหรือเป็นระยะยาวในเชิงปรัชญา ผมคิดว่าตรงนี้ใส่กันได้ตามความคิดของเราได้เลย คือจินตนาการว่าอยากเห็นลูกเติบโตเป็นอย่างไร หรือการศึกษาที่เราจัดจะหล่อหลอมให้คนหนึ่งคนเป็นอย่างไร ก็โม้กันไปครับ

                หัวข้อที่ 5 รูปแบบการจัดการศึกษา ก็เช็คถูกหรือเลือกอันที่ตรงกับที่เราจะทำ อาจจะงง ๆ แต่ไม่มีอะไรมากครับ

                หัวข้อที่ 6 การจัดสระการเรียนรู้ จะมีตาราง 3 ช่องตรงนี้ผมแนะนำอย่างนี้ครับ ในระดับอนุบาล เจ้าหน้าที่เขตจะยึดเกณฑ์มาตรฐานของ “หลักสูตรอนุบาล 2546” ซึ่งเวลาประเมินเด็กเค้าก็จะประเมินตามเกณฑ์พวกนี้ ได้คุยกับศึกษานิเทศก์ทำให้รู้ว่า ศึกษานิเทศก์บางคนมีความเข้าใจเด็กดีมาก เค้าจะมีวิธีประเมินได้อย่างเป็นธรรมชาติ แต่ที่เคยฟังจากบางพื้นไม่เข้าใจเด็กจะประเมินตามเกณฑ์ท่าเดียวก็มี ต้องยอมรับว่าเกณฑ์ประเมินแบบนี้อาจจะไม่เป็นที่พอใจของบางบ้านแต่ในมุมมองของผมเกณฑ์ที่ใช้อยู่นี้ถือว่าไม่น่ามีปัญหากับเด็กทั่ว ๆ ไป คือประเมินยังไงก็น่าจะผ่านได้อยู่แล้วไม่น่ามีปัญหา ต่างกับ 8 สาระในชั้นเด็กโตที่คงมีประเด็นที่เห็นไม่ตรงกันมากกว่า

                สำหรับหัวข้อ 6 ผมขอแนะนำดังนี้

                1) ให้คัดลอก 4 กลุ่มสาระการเรียนรู้/ประสบการณ์ คือ ด้านร่างกาย ด้านอารมณ์และจิตใจ ด้านสังคม ด้านสติปัญญา (ดูได้จากหน้า 44 หรือ 10 – 16 ของ “หลักสูตรอนุบาล 2546”) ลงตารางคอลัมน์แรก กลุมสาระการเรียนรู/กลุมประสบการณ์

                2) คัดลอก 12 มาตรฐานพร้อมตัวชี้วัดย่อยในแต่ละมาตรฐาน (หน้า 33 – 41 “หลักสูตรอนุบาล 2546”) ลงในคอลัมน์ที่ 2 เป้าหมายคุณภาพผู้เรียนที่มุ่งหวังในชั้นปี/ช่วงชั้น/ระดับการศึกษา สำหรับตัวชี้วัดย่อยนี้อันไหนไม่ชอบ ไม่เห็นด้วยก็แอบตัดออกได้ครับ หุหุ เวลาใส่ใส่ให้ตรงกับหมวด 4 กลุ่มในหัวข้อ 1) นะครับ

                นอกจากนี้ในเขตที่ผมจดทะเบียน เขาบอกเด็กบ้านเรียนจะทำได้ตามเกณฑ์อยู่แล้ว จึงอยากให้เราใส่อะไรที่มากกว่าเกณฑ์ลงไปด้วย ซึ่งตรงนี้ถ้าเรามีแผนหรือจะมีการจัดการเรียนรู้ที่มากไปกว่าเกณฑ์ก็ใส่เพิ่มได้เลยครับ โดยอาจจะเพิ่มกลุ่มสาระหรือตัวชี้วัดย่อยเองก็ได้ครับ (ส่วนนี้ตอนเขียนคอลัมน์ 3 ในหัวข้อถัดไปอาจจะนึกออก)

                3) เมื่อมีเกณฑ์มาตรฐานและตัวชี้วัดย่อยก็ทยอยใส่กิจกรรม/ ประสบการณ์การเรียนรู้ของลูกเราลงในคอลัมน์ที่ 3 ได้เลยครับ โดยการคิด 2 แบบที่ช่วยให้ใส่ได้ง่ายขึ้นคือ

                    3.1) คิดถึงว่าในแต่ละวันเราจัดให้ลูกได้เรียนรู้เรื่องอะไรบ้างผ่านกิจกรรมอะไร หรือวัน ๆ หนึ่งลูกทำอะไรตรงกับมาตรฐาน/ตัวชี้วัดไหนก็ค่อย ๆ ใส่ลงไป

                    3.2) หรืออาจจะเริ่มจากดูไล่ตามเกฑณ์มาตรฐานและตัวชี้วัดย่อยในแต่ละตัว แล้วดูว่าในชีวิตประจำวันลูกทำอะไร มีกิจกรรมไหน ประสบการณ์ไหนที่เราลูกเราได้ทำแล้วทำให้ได้เรียนรู้ในหัวข้อนั้น ๆ ก็เพิ่มลงไปให้ตรงหัวข้อ

                เมื่อทำหัวข้อ 3 เสร็จแล้วเราก็จะได้สภาพการเรียนรู้ที่เราจัดให้ลูกในปัจจุบัน ซึ่งสามารถใช้ในช่วงปีนี้ได้ แต่ว่าแผ่นที่เราเขียนจะใช้จนถึงลูกจบอนุบาลคืออีก 2 – 3 ปีข้างหน้า ทำให้เราต้องเพิ่มอีกว่าในปีที่ 2 กับปีที่ 3 เรามีแผนจะทำอะไรเพิ่มอีกตามวัยของลูก มีอะไรที่ยังคงทำต่อเนื่อง หรืออะไรที่อาจจะไม่ได้ทำต่อ ซึ่งตรงจุดนี้จะช่วยให้เราหาความรู้เพิ่มว่าถึงตอนนั้นลักษณะของลูกจะประมาณไหน มีแผนที่อยากจัดเตรียมอะไรให้เค้าหรือเปล่า ก็เขียนเติมเข้าไป ถ้าอยากทำถึงแม้ว่ายังไม่รู้จะทำยังไงในความคิดผม ผมว่าใส่ไปก็ดีนะครับ เวลาเรามาอ่านเองเราจะได้เตือนตัวเองว่า เออ.. เราเคยอยากทำอันนี้ จะได้เป็นแผนที่เราใช้เองได้จริง ๆ หรืออย่างถ้าเราตั้งเป้าไว้แล้วว่าเราอยากทำอันนั้นอันนี้กับลูกมันก็จะอยู่ในความนึกคิดของเราเรื่อย ๆ เราก็จะคิดถึงมันบ่อย ๆ กว่าจะถึงตอนนั้น เราก็อาจจะหาวิธีได้ ว่าเราจะทำอย่างไร อย่างผมอยากให้ลูกได้รู้ภาษาที่ 3 แต่ยังนึกไม่ออกว่าจทำยังไงได้บ้างก็ใส่ไปก่อนเท่าที่เราคิดออก ทุกวันนี้ผมก็ยังคิดหาทางอยู่เรื่อย ๆ ว่าทำยังไงลูกจึงจะได้เรียนรู้ภาษาที่ 3 ตามแนวทางของเรา

ส่วนรูปแบบในการเขียนเพิ่มในปีที่ 2 หรือ 3 ตรงนี้จะเป็นเพิ่มคอลัมน์ย่อยในคอลัมน์ที่ 3 (เหมือนของบ้านเรียนเปื้อนฝุ่น) หรือจะทำใหม่ทั้งหมดเป็น ปี ๆ ไปก็ได้ครับ ทำเป็นปี ๆ ก็จะได้ตาราง เพิ่มตามจำนวนปีที่ทำ มีหัวว่า ปีที่ 1 ปีที่ 2 ปีที่ 3 (อาจจะเห็นภาพยากหน่อย ถ้าคิดการอธิบายที่เข้าใจง่ายว่านี้ได้จะมาเพิ่มให้ครับ)

                หัวข้อ 7 การจัดกระบวนการเรียนรู้ หัวข้อนี้อาจจะดูสับสนสำหรับบางคน แต่หัวใจหลักก็คือการอธิบายให้คนอ่านเห็นภาพว่า สาระการเรียนรู้ กิจกรรมต่าง ๆ ที่เราเขียนไว้ในหัวข้อที่ 6 นั้นเราจะจัดให้ลูกได้เรียนรู้ในแต่ละกิจกรรม แต่ละสาระอย่างไร คือหัวข้อ 6 เหมือนเป็นเนื้อหา ประสบการณ์ที่เราเตรียมไว้อยากให้เค้าได้เรียนรู้ ส่วนข้อ 7 นี้เป็นการอธิบายว่าเราจะจัดสรร เรียงร้อยให้เค้าได้รู้อย่างไร คือจะเรียนตามตารางเรียนชัดเจนหรือจะเรียนรู้ไปในชีวิตประจำวัน บางบ้านอาจจะเรียนรู้แบบคละ ๆ มั่ว ๆ เรียนรู้จากการติดสอยห้อยตามเราไปแล้วก็คอยเก็บเอา ประเด็นคือถ้าครอบครัวไหนมีตาราง มีเวลาชัดเจนก็อธิบาย อันไหนเป็นในชีวิตประจำวันก็เล่าไปให้เห็นภาพจะโดยการบรรยายหรือตารางก็แล้วแต่ครับ
 
               หัวข้อที่ 8 การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ หัวข้อนี้เจ้าหน้าทีเขตที่ผมยื่นเห็นว่า ระบุว่า “ประเมินจากการสังเกตและการบันทึก การรวบรวมผลงานที่แสดงออกถึงความก้าวหน้าแต่ละด้านของผู้เรียน” ก็พอแล้ว ผมคิดว่าสำหรับเขตอื่นที่ต้องการมากกว่านี้ เราอาจจะต้องเขียนด้วยความระมัดระวังหน่อย อันไหนที่เราไม่อยากให้ทำ ไม่อยากใช้การประเมินนั้น ๆ กับลูกเราก็ไม่ควรเขียน

คิดว่าคำแนะนำคงจะมีเท่านี้ เขียน ๆ ไปแล้วก็รู้สึกว่ามันไม่เห็นภาพมีรายละเอียดซับซ้อนอยู่พอควร เกรงคนอื่นจะไม่เข้าใจเหมือนกัน แต่ก็ลองเอาให้อ่านกันดูครับ จริง ๆ ตอนแรกสิ่งที่อยากจะเขียนมีแค่ย่อหน้าต่อไปนี้แหละครับคือ

“ในความเห็นผม หัวใจของการเขียนแผนคือ การอธิบายให้ได้ว่าคุณมีแผน วางแผนจะจัดการเรียนรู้ให้ลูกอย่างไรบ้าง ลงในแบบฟอร์มที่กำหนด คุณจะอยากให้เค้ารู้หรือจะสอนเรื่องอะไรบ้าง หรือคุณจะไม่สอนเลย จะสอนแบบมีตารางเรียนแน่นอน เป็นรายวิชาเหมือนโรงเรียน หรือจะไม่มีตารางสอนเลย คุณจะมีการหาครูมาสอนลูก หรือจะปล่อยไว้ตามท้องไร่ท้องนา ให้ไปกับลุงป้าชาวสวน ปล่อยเข้าป่า หรือจะพาท่องเที่ยวไปเรื่อย ๆ ก็พยายามอธิบายให้เข้าใจให้เห็นภาพ ลงในฟอร์มที่มี ถ้าคุณไม่ได้คิดหรือวางแผนจะสอนคณิตศาสตร์ให้ลูกก็อย่าไปใส่ไว้ ถ้าคุณอยากให้ลูกได้เรียนเรื่องนั้นเรื่องนี้ประมาณตอนไหน ยังไง อาจจะยังไม่รู้วิธีก็อาจจะบอกคร่าว ๆ ไว้ แผนก็คือแผนถึงเวลาทำได้ ไม่ได้ หรือไปทำอย่างอื่นแทนเราก็ค่อยเล่าในรายงาน ส่วนที่ต้องมีการลงในแบบฟอร์ม ผมเข้าใจว่า คนอื่น (ซึ่งก็คือเจ้าหน้าที่) ที่ต้องอ่านของหลาย ๆ คน ก็สามารถเข้าใจโครงสร้างแผนได้โดยง่าย รู้ว่าจะดูเรื่องนั้นเรื่องนี้ให้ข้ามไปดูตรงไหนยังไง ก็สะดวกขึ้น อีกด้านก็ทำให้คนเขียนรู้ว่าจะต้องระบุอะไรลงไปบ้าง วางลำดับยังไงก็อาจช่วยให้เขียนได้ง่ายขึ้น”

ผมคิดว่าในแผนการสอนจะสะท้อนวิถีชีวิตของครอบครัวด้วยครับ ถ้าอยู่ในเมืองอาศัยในคอนโด ผมก็จิตนาการไปว่าคงจะเห็นภาพการใช้สื่อการสอนและตารางเวลาในการเรียนรู้มากหน่อยสลับกับการออกไปหาความรู้นอกบ้าน ส่วนถ้าบ้านไหนอยู่ชนบทการเรียนรู้ต่าง ๆ ก็น่าจะอยู่ในชีวิตประจำวันท้องไร่ท้องนามากกว่า ให้ธรรมชาติเป็นครู หรือถ้ากึ่งเมืองกึ่งชนบทก็น่าจะประมาณปนปนกัน ตัวอย่างนี้แค่ยกมาอธิบายให้เห็นภาพนะในความเป็นจริงครอบครัวที่อยู่คอนโดหรือทำสวนทำไร่อาจจะไม่ได้เป็นเช่นนั้นจริง ๆ 

ที่ผมเขียนมาทั้งหมดนี้ป็นแนวทางที่ผมคิดว่าทำให้เราเขียนแผนโดยไม่ลำบากเกินไปนักและคิดว่าการเขียนแผนโดยทั่ว ๆ ไปควรจะเป็นแบบนั้น คือคนเขียนเข้าใจและเอาไปใช้ได้ ไม่อยากให้เขียนแผนแค่เพื่อส่งเขต แต่อยากให้แผนเป็นเครื่องมือการทบทวนและวางแผนการเรียนรู้ของลูกเราจริง ๆ และเราสามารถอ่านเข้าใจหยิบมาใช้ทบทวนหรือปรับปรุงเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อลูกเราครับ ขอให้ทุกคนเขียนแผนได้ตรงกับสิ่งที่คิดที่อยากทำกับลูกหรือเด็กที่อยู่ในความดูแลนะครับ
 
 


by Patai on Apr 29, 2013

Posted in เรื่องเล่าโฮมสคูล

ติดต่อลงโฆษณา
Medium Rectangle Sidebar 1st
Fixed 1,000 baht/month
Slot 300 baht/month

ป้ายคำค้น

ในหมวดเดียวกัน
ป้ายคำค้นเดียวกัน

โปรเจ็กต์ของผู้แต่ง