โฮมสคูล ทางรอดหรือทางเลือก
ติดต่อลงโฆษณา
Leaderboard in Content 1st
Fixed 1,000 baht/month
Slot 300 baht/month

ช่วงเวลากว่า 30 ปีที่ผ่านมา โฮมสคูลดูจะได้รับความสนใจจากพ่อแม่และผู้คนในแวดวงการศึกษามากขึ้นเรื่อยๆ ทุกวันนี้ผลผลิตของคนกลุ่มนี้ได้ก้าวเข้าสู่สังคมและการเรียนรู้ในระบบอย่างเต็มตัว พวกเขาเป็นอย่างไร สถานการณ์และแนวโน้มของโฮมสคูลดีขึ้นหรือไม่หลังได้รับสิทธิทางกฎหมายในช่วงหลายปีมานี้

1. พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ตามมาตรา 12 เปิดโอกาสให้บุคคล องค์กรเอกชน ชุมชน สถาบัน ศาสนา สถานประกอบการ และสถาบันทางสังคมอื่นๆ จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ รวมไปถึงการจัดการศึกษาโดยครอบครัวที่เรียกกันว่า โฮมสคูล (Home School) แต่ในความจริงการศึกษารูปแบบนี้เริ่มมีมานานมากกว่า 20 ปีโดยพ่อแม่บางส่วนที่ไม่เห็นด้วยกับการเรียนในระบบก่อนที่ พ.ร.บ.ฉบับนี้จะออกมา

โฮมสคูล หรือการจัดการศึกษาโดยครอบครัว หมายถึงการจัดการศึกษาที่พ่อแม่หรือผู้ปกครองเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง โดยพ่อแม่อาจสอนเอง หรือจัดการให้เกิดการเรียนการสอน เช่น จ้างครูสอนพิเศษมาสอนที่บ้านผสมผสานกับการสอนด้วยตัวพ่อแม่เอง หรือมีข้อตกลงในการจัดการศึกษาร่วมกันกับโรงเรียน เช่น สัปดาห์หนึ่งเรียนในโรงเรียน 3 วัน ที่เหลือเรียนกับพ่อแม่ที่บ้าน หรืออาจจะรวมกลุ่มกันหลายครอบครัวเพื่อจัดกิจกรรมการเรียนรู้ร่วมกัน

บทบาทของโฮมสคูลในสังคมไทยจึงเริ่มมีภาพรางเลือนให้เห็นอยู่เป็นระยะตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาจนกระทั่งปี 2547 ก็ได้มีการออกกฎกระทรวงศึกษาธิการเรื่อง ‘สิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัว’ ซึ่งกำหนดให้ครอบครัวที่ต้องการจะจัดการศึกษาเองมาขออนุญาตที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่ครอบครัวมีภูมิลำเนาอยู่ โดยพ่อแม่จะต้องเรียนจบไม่ต่ำกว่ามัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า เว้นแต่ได้รับการประเมินว่าเป็นผู้มีความสามารถในการจัดการศึกษา

การจัดการศึกษารูปแบบนี้ ครอบครัวจะต้องวัดผลการเรียนรู้ลูกตามหลักเกณฑ์ของหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน และจัดทำรายงานการวัดผลส่งที่สำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) อย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง และให้ทางสำนักงานประเมินผลการเรียนรู้อย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง แล้วจึงจะได้รับหนังสือรับรองการจบการศึกษา

แม้จะมีกฎหมายออกมารองรับอย่างเป็นทางการ แต่ในทางปฏิบัติแล้วก็ยังมีปัญหาในเรื่องความเข้าใจไม่ตรงกันอยู่เสมอ ระหว่างครอบครัวและภาครัฐ บางครอบครัวถึงกับออกมาระบุว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นคนทำลายระบบโฮมสคูล เนื่องจากเจ้าหน้าที่ไม่มีความเข้าใจในการเรียนการสอนแบบนี้ จึงทำให้ผู้จัดการศึกษาไม่ได้รับการอำนวยความสะดวกโดยเฉพาะเรื่องสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่ควรจะได้รับ 

จนกระทั่งวันที่ 10 มกราคม 2550 หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก ได้รายงานว่า ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 9 มกราคม เรื่องที่ ครม.อนุมัติตามที่ ศธ.เสนอ ให้รัฐบาลจัดเงินอุดหนุนเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายรายหัวสำหรับครอบครัว บุคคล หรือหน่วยงานที่จัดตั้งการศึกษาด้วยตนเอง พร้อมทั้งอนุมัติให้ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและลดหย่อนหรือยกเว้นภาษีสำหรับค่าใช้จ่ายการศึกษาอีกด้วย

คลิกดาวน์โหลดเอกสารฉบับเต็มที่นี่ค่ะ >>> แนวทางการดำเนินงาน ตามนโยบายการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษา ตั้งแต่ระดับอนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๕๕

ยุทธชัย อุทัยวรรณ ผู้จัดการมูลนิธิแสงอรุณ ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาสมาคมบ้านเรียนไทย ให้ความเห็นถึงสถานการณ์ของระบบการเรียนแบบโฮมสคูลในเมืองไทยว่า…

“ผมมองว่าการศึกษาแบบบ้านเรียนได้รับการยอมรับมากขึ้น มีคนเข้าใจมากขึ้น มีกฎหมายออกมาทำให้สถานภาพสมบูรณ์มากขึ้น แล้วก็มีการอนุมัติค่าใช้จ่ายมาช่วยเหลือ ในแง่ของความชัดเจนก็มีหน่วยงานอย่าง สพฐ. เข้ามาดูแลรับผิดชอบ ก็เชื่อว่าครอบครัวน่าจะมีกำลังใจมากขึ้น คนที่อยากจัดการศึกษาแบบนี้ก็น่าจะเข้ามาติดต่อมากขึ้น และน่าจะมีจำนวนมากขึ้นด้วยเช่นกัน ซึ่งอันนี้เป็นความคิดเห็นในแง่บวก

ในอีกแง่หนึ่งก็คือ สพฐ. มีภาระมากอยู่แล้ว กับการดูแลด้านการศึกษาในระบบ เขามีกรอบและเคยชินกับการจัดการศึกษาในระบบ จึงขาดความชัดเจนและความพร้อมในด้านการศึกษาแบบบ้านเรียน รวมถึงการจัดตั้งสถานประกอบการเรียน หรือศูนย์เรียนรู้ชุมชนก็มีปัญหาด้วยเช่นกัน และถึงแม้จะมีมติ ครม.ออกมาว่าจะให้เงินอุดหนุนก็ยังไม่รู้ว่าจะได้เมื่อไหร่ ไม่รู้ว่าอีกนานแค่ไหน”

เมื่อมองในภาพรวมนั้น ดูเหมือนว่าสังคมจะเปิดใจรับการศึกษาในรูปแบบนี้ได้มากขึ้น จากที่เคยมองอย่างไม่เป็นมิตร แนวโน้มในระยะหลังก็ได้รับความเข้าใจมากขึ้น การติดต่อกับเจ้าหน้าที่สำนักงานเขตก็ได้รับความเข้าใจเพิ่มมากขึ้น แต่ปัญหาสำคัญก็ยังอยู่ที่ตัวเจ้าหน้าที่และครอบครัวที่อาจจะไม่มีความรู้และความเข้าใจในระบบการเรียนรู้แบบโฮมสคูลอย่างแท้จริง รวมถึงปัญหาหลักคือ ขาดหน่วยงานระดับย่อยที่จะเข้ามาดูแลด้านนี้อย่างจริงจัง

“ถึงจะมีหน่วยงานอย่าง สพฐ. เข้ามาดูแลโดยตรง แต่ก็ไม่มีหน่วยงานรองลงไปเข้ามาดูแลต่อเนื่องอย่างเป็นรูปธรรม มีแต่หน่วยงานย่อยที่ดูแลด้านการศึกษาในระบบ แต่เท่าที่ผมเห็นก็ได้มีความพยายามเข้ามาดูแลมากขึ้นแล้ว”

จากข้อมูลของสมาคมบ้านเรียนไทยระบุว่า

ทุกวันนี้มีครอบครัวที่จัดการศึกษาเองอยู่ทั่วประเทศกว่าร้อยครอบครัว

ผู้ปกครองส่วนใหญ่ยังคงฝากชื่อไว้ที่โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก เนื่องจากไม่มั่นใจว่าจะได้รับความเข้าใจจากภาครัฐ อีกทั้งยังขาดการเชื่อมโยงกันในแต่ละครอบครัวที่จัดการสอนด้วยตนเอง แต่ก็คาดว่าน่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นในหลายด้านสำหรับอนาคตของระบบโฮมสคูล

2. การจัดการศึกษาแบบโฮมสคูล Home School ในเมืองไทยนั้น เริ่มตั้งแต่ปี 2524โดย ครอบครัวนายแพทย์โชติช่วง-คุณวิจิตรา ชุตินธร ซึ่งตั้งใจจัดการศึกษาให้กับลูกๆ ที่บ้านอย่างแท้จริงจัดเป็นครอบครัวแรกของสังคมไทยในยุคนั้น และหลังจากนั้นก็มีครอบครัวอื่นๆ อีกหลายครอบครัว อาทิ ครอบครัวยุทธชัย – อุทัยวรรณ  เฉลิมชัย, ครอบครัวนายแพทย์พร พันธุ์โอสถ ฯลฯ

ในปี พ.ศ. 2524 ครอบครัวนายแพทย์โชติช่วง-คุณวิจิตรา ชุตินธร จัดการศึกษาให้กับลูกๆ ที่บ้านอย่างแท้จริงจัดเป็นครอบครัวแรกของสังคมไทยในยุคนั้น ลูกๆทั้ง 3 คน ไม่เคยเข้าโรงเรียนอนุบาล หรือโรงเรียนในระบบแต่เรียนที่บ้านที่กรุงเทพและไปสอบที่โรงเรียนหมู่บ้านเด็กทีจังหวัดกาญจนบุรีทุกเทอมจนจบชั้นประถม 6  นับเป็นครอบครัวแรกในโครงการพิเศษ “บ้านและโรงเรียน” ของโรงเรียนหมู่บ้านเด็ก

หลังจากผ่านมาเป็นเวลากว่า 20 ปี ผลผลิตของเด็กๆ โฮมสคูลเหล่านี้ก็ได้ก้าวเข้ามาอยู่ในสังคมไทยอย่างเต็มตัว คำถามที่หลายฝ่ายเคยตั้งข้อสงสัยว่าเด็กกลุ่มนี้จะไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสังคมได้ แปลกแยกจากคนทั่วไป หรือมีความเหมือนและความต่างจากเด็กในระบบอย่างไร

บางทีตัวอย่างผลผลิตโฮมสคูลรุ่นแรกเหล่านี้อาจเป็นคำตอบบางส่วนก็เป็นได้

“ตั้งแต่เด็กคุณพ่อคุณแม่ก็จะอธิบายว่า โฮมสคูลคืออะไร แล้วก็บอกว่าเราไม่ต้องไปโรงเรียนเหมือนคนอื่นๆ แต่คุณพ่อคุณแม่จะสอนเราที่บ้าน เราก็เรียนทุกอย่าง ทั้งภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ เลขคณิต ประวัติศาสตร์  การเษตร ขุดดิน เลี้ยงไก่ เดินป่า camping ว่ายน้ำ ทำกับข้าว ฯลฯ คุณพ่อก็พาไปซื้ออุปกรณ์วิทยาศาสตร์มาทดลองเองที่บ้าน ทำทุกอย่างเหมือนเด็กปกติเลยนะ ต่างแค่ว่าเราไม่ต้องเสียเวลาตื่นแต่เช้าแต่งเครื่องแบบไปโรงเรียนเท่านั้นเอง”

สุนิศา หรือ ซูซานในวัย 26 ปี ลูกสาวคนกลางของนายแพทย์โชติช่วง-คุณวิจิตรา  ซึ่งปัจจุบันเป็นพิธีกรรายการบันเทิง และรายการ แฟชั่นที่ Thailand Outlook Channel ซึ่งเป็นโทรทัศน์ภาคภาษาอังกฤษของสถานีโทรทัศน์ ASTV  ย้อนอดีตการเรียนแบบโฮมสคูลที่เธอเคยได้รับในวัยเด็กให้ฟัง

สุนิศาเรียนที่บ้านจนกระทั่งอายุ  9 ขวบทางบ้านก็ได้ส่งไปเข้าเกรด 3 ที่โรงเรียนโบสถ์ Church School ซึ่งเป็นโรงเรียนแบบ Multi-grade  ส่วนพี่ชายตอนนั้นก็เรียนที่บ้านจนอายุ 11 ขวบไปเข้า เกรด 6 ในปีเดียวกัน  การเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษจนถึงเกรด 10 (ม. 4) ก็ได้เข้าศึกษาต่อชั้น  grade11 ที่โรงเรียนนานาชาติ ระหว่างนั้นก็เรียนที่บ้านแล้วไปสอบเทียบ กศน (การศึกษานอกโรงเรียน)  จนจบชั้น มัธยม 6 แล้วไปศึกษาต่อที่อเมริกา 1 ปี แล้วกลับมาเรียนจนจบปริญญาตรีที่คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร Food Science   จาก  วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล

ในด้านการสอนของผู้ปกครองนั้น สุนิศายกตัวอย่างให้ฟังอาทิ การเรียนภาษาอังกฤษโดยการออกกฎให้พูดภาษาอังกฤษกับคุณพ่อเท่านั้น เนื่องจากทั้งพ่อและแม่มีพื้นฐานภาษาอังกฤษที่ดีโดยจบการศึกษาจากต่างประเทศทั้งคู่ คุณแม่ซึ่งเป็นคนสอนที่บ้านเป็นหลักก็เป็นคนใจเย็นแม่จบ เลขานุการและปริญญาตรีมนุษญ์ศาตร์ ส่วนคุณพ่อก็เน้นการสอนให้ลูกๆ ทุกคนมีพื้นฐานทางศาสนาสอนให้เป็นคนดีมีคุณธรรม และอยู่อย่างพอเพียง ประหยัด ทำให้เธอสามารถอยู่ในสังคมได้ไม่แตกต่างจากคนทั่วไป

“ พอเข้าโรงเรียนอินเตอร์เพื่อนเขาก็รู้ว่าเรามาจากโรงเรียนโบสถ์เล็กๆ เป็นเด็กไม่ทันโลกภายนอก เพื่อนๆ ก็คิดว่าเราเป็นเด็กเรียบร้อยเท่านั้น ด้านวิชาการเราก็ตามทันเขา เราก็เก่งภาษาอังกฤษ ไม่มีปัญหาอะไร พอเข้ามหาวิทยาลัยเราก็เรียนเลขเพิ่มขึ้นเท่านั้น เพราะเราไม่ค่อยเก่งเลข แล้วพอเข้าเรียนที่มหิดลก็ไม่มีใครรู้นะว่าซูเป็นเด็ก Home School มีบางคนรู้ แต่ปกติคนก็ดูไม่ออก ซูก็เป็นคนสนุกสนานเข้ากับสังคมได้ ไม่ได้รู้สึกแตกต่างอะไรกับคนอื่น ซูเป็นนักกิจกรรมของมหาวิทยาลัยเป็นกรรมการสโมสรนิสิตนักศึกษาด้วยนะ มีเพื่อนเยอะ ตอนอยู่ปี 1 ก็ได้รับเลือกเป็น Miss Inter  ด้วยค่ะ”

มีความแตกต่างบ้าง ตรงที่บางครั้งซูจะไม่เข้าใจเรื่องซีเรียสที่เขาคุยกันอย่างการอิจฉากัน หรืออย่างการแก้ปัญหาซูจะแก้ง่ายกว่าคนอื่นเพราะเป็นคนมองโลกในแง่ดี เพราะเราเห็นอะไรดีๆ มาตลอด ไม่ค่อยเจอการแก่งแย่งชิงดีกัน เพราะซูมองว่าแต่ละคนไม่เหมือนกัน ไม่ต้องไปแย่งกัน จะเป็นคนสบายๆ มากกว่า เป็นคน flexible มาก”

ส่วนข้อดีของสิ่งที่เธอได้เรียนรู้จากการเรียนโฮมสคูลนั้นมีทั้งตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมอย่างภาษาอังกฤษที่ใช้ได้ดีและเป็นคนมีความมั่นใจสูงกล้าแสดงออกจนกระทั่งนำมาประกอบเป็นอาชีพผู้สื่อข่าวภาคภาษาอังกฤษที่ทำอยู่ทุกวันนี้ รวมถึงวิธีคิดในการใช้ชีวิต การมองโลกในแง่ดีแต่ตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งความเป็นจริงแบบที่หาได้ยากในหมู่คนรุ่นเดียวกัน

“ซูก็ได้ทุกอย่างมาจากคุณพ่อคุณแม่ เขาเก่งอยู่แล้ว เราก็ซึมซับมาเหมือนที่เขาอยากให้เราเป็น แต่ถ้าถามว่า ดีสุดๆ มั้ยก็ไม่ เก่งสุดๆ มั้ยก็ไม่ พูดตรงๆ ก็เป็นคนปกติธรรมดานะ”

3. สำหรับครอบครัวของ ยุทธชัย-อุทัยวรรณ เฉลิมชัย ก็มีที่มาในการทำโฮมสคูลคล้ายคลึงกันกับครอบครัวแรกคือ ไม่เห็นด้วยกับการสอนในระบบ สานต่อ เฉลิมชัย เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ที่บ้าน หลังจากจบการศึกษาระดับประถมศึกษาว่า

“คุณพ่อชวนผมกับพี่ชายว่าลองมาเรียนกับพ่อมั้ย ผมคิดว่ายังไงก็ได้ พูดถึงโรงเรียนก็ไม่ได้ชอบอะไร แต่ก็ไม่ได้มีปัญหา เรียนต่อก็ได้ แต่พอคุณพ่อพูดแบบนี้ก็ลองดู แล้วพี่ชายก็มาเรียนด้วยกัน”

สานต่อเรียนโฮมสคูลจนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 แล้วเข้าเรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ที่ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยได้คะแนนเป็นที่ 2 ของชั้นเรียน หลังจากเรียนได้ 1 ปีก็ไปเรียนต่อด้านภาษาที่เมืองจีน 2 ปี แล้วกลับมาศึกษาต่อที่เดิมในสาขากีตาร์คลาสสิก ปัจจุบันเขาศึกษาอยู่ชั้นปี 1 โดยไม่ได้มีปัญหาทั้งในด้านการเรียนและการเข้าสังคมกับเพื่อน

“ตอนเข้า ม.4 ผมรู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้ใหญ่กว่าเพื่อนนิดหน่อย แต่พวกเขารู้สึกหรือเปล่าไม่รู้ แต่ก่อนเพื่อนจะมองว่าผมเป็นคนซีเรียส จริงจัง ไม่ค่อยเล่น แต่ตอนนี้ก็สนิทกัน เขาก็เข้าใจว่าผมเป็นยังไง เพื่อนๆ ที่รู้ว่าเราเรียนโฮมสคูลมา เขาก็ไม่ได้คิดว่าการเรียนแบบนี้ ทำให้ผมเป็นคนแบบนี้ แต่เขาคิดว่า เราแค่เป็นคนแบบนี้เท่านั้น เราไม่ได้เก๊ก แต่แรกๆ จะมีเพื่อนคิดว่า ไอ้นี่ทำเป็นพระเอก ทำเป็นช่วยอาจารย์ถือของ ช่วยจัดอุปกรณ์ในห้องเรียนทุกครั้ง แต่ตอนหลังพวกเขาก็เข้าใจว่าผมเป็นคนยังไง”

ส่วนการเรียนรู้ที่ได้จากบ้านซึ่งคุณพ่อเป็นคนสอนคนเดียว ขณะที่คุณแม่ทำงานประจำนั้น สานต่อเล่าว่า

“พ่อไม่ค่อยสอนวิชาการนะ อย่างภาษาอังกฤษก็เรียนเองมากกว่า แต่ไปต่างจังหวัดกันบ่อย เกือบทุกอาทิตย์ เหมือนเราเดินทางไปด้วยกัน แล้วก็พูดคุยกันมากกว่า ได้ความรู้มากจากการเดินทาง เรียนจริงๆ ก็แค่ประวัติศาสตร์และภาษาไทย บางวิชาก็มีคนอื่นสอนให้ พ่อจะเน้นสอนอีคิวมากกว่าไอคิว สอนให้เราเป็นคนดี มีความรับผิดชอบทั้งต่อตัวเองและต่อสิ่งแวดล้อม แล้วก็มีสิ่งที่พ่อขอไว้ 3 อย่าง อยากให้ลูกทำได้คือ ว่ายน้ำเป็น พูดภาษาอังกฤษได้ และเล่นดนตรีเป็น”

สิ่งสำคัญที่ได้จากการเรียนรู้ในระบบโฮมสคูลนั้น นอกจากเด็กจะมีเวลามากขึ้นสำหรับอ่านหนังสือ เดินทางและเรียนรู้ตามวัย โดยไม่ต้องตื่นแต่เช้าไปโรงเรียนแล้ว สานต่อยังเสริมว่า

“ผมคิดว่าเพื่อนๆ ที่เรียนโฮมสคูลด้วยกัน จะไม่เชิงเป็นผู้ใหญ่กว่าเด็กทั่วไป แต่มีความรับผิดชอบ รู้ว่าตัวเองต้องทำอะไร หรือไม่ควรทำอะไร ซึ่งเราจะเป็นกันทุกคน แต่ก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องเรียนโฮมสคูลเท่านั้นถึงจะเป็นแบบนี้ คนที่ไม่เรียนก็เป็นได้ ขึ้นอยู่กับการสอนของพ่อแม่

ส่วนสิ่งที่เป็นวิชาการหรือตัวหนังสือคงไม่ได้อะไรมากนัก ที่สำคัญน่าจะอยู่ที่การทำให้เราเป็นคนใฝ่รู้ อยากเรียนรู้ด้วยตนเอง ซึ่งผมเชื่อว่าถ้าเราอยากรู้อะไรด้วยตนเองน่าจะเรียนได้เร็วและดีกว่าการที่มีคนมาบอกให้เราเรียน หรือถ้าเกิดเราอยากรู้อะไรขึ้นมา เราก็รู้ว่าจะทำยังไงจึงจะเข้าไปสู่ความรู้อันนั้น”

และจากคำพูดที่ผ่านการเรียบเรียงและกลั่นกรองทางความคิดของเด็กหนุ่มวัย 19 ปีคนนี้ คงจะเห็นได้ว่า ณ วันนี้คุณพ่อของสานต่อคงจะประสบความสำเร็จกับสิ่งที่คาดหวังไว้แล้ว

4. แนวโน้มการศึกษาในเมืองไทยขณะนี้ดูจะเปิดกว้างสำหรับการศึกษาแบบทางเลือกมากขึ้น นักวิชาการฝ่ายการศึกษาส่วนใหญ่จึงเห็นพ้องต้องกันว่าระบบโฮมสคูลน่าจะเป็นทางเลือกที่ดี สำหรับหลายครอบครัวที่มีความพร้อม

“ถ้าพูดถึงพื้นฐานวิธีคิดก็แบบโฮมสคูลน่าจะเหมาะกับทุกที่ เป็นทางเลือกที่ดี เพราะเด็กแต่ละคนมีความหลากหลายและมีความสามารถในการเรียนรู้ไม่เหมือนกันที่ระบบอาจจะตอบสนองไม่ได้ แต่พ่อแม่บางคนอาจจะให้เวลาสอนได้ดีกว่า แต่พ่อแม่ก็ต้องมีความเข้าใจด้านนี้จริงๆ” อ.ดร.อุบลวรรณ หงษ์วิทยากร คณะครุศาสตร์ ภาควิชานโยบายการจัดการและความเป็นผู้นำทางการศึกษา จุฬาลงกรณ์ฯ ให้ความเห็นที่มีต่อโฮมสคูล พร้อมเอ่ยถึงปัญหาการจัดการเรียนแบบนี้ว่า ยังมีปัญหาด้านการดำเนินงาน อีกทั้งยังรู้กันอยู่ในกลุ่มแคบๆ เฉพาะเครือข่ายสมาคมบ้านเรียนไทยเท่านั้น

“โฮมสคูลยังคงเข้ากับสภาพสังคมไทยได้ยาก ยังมีปัญหา เรื่องความเข้าใจของคนไทยในด้านนี้ไม่เพียงพอ ความไม่สะดวกในการลงทะเบียน และโครงสร้างทางสังคมไม่ตอบสนอง เพราะพื้นฐานของคนไทยโดยเฉลี่ยการศึกษาไม่สูง รายได้ก็ไม่เพียงพอ ขาดความพร้อมที่จะจัดการศึกษาแบบนี้ อีกทั้งยังขาดความช่วยเหลือจากภาครัฐ ทั้งในด้านการเอื้อประโยชน์กับผู้จัดและการให้ความรู้ทางด้านนี้กับคนทั่วไป

แต่มองโดยรวมสถานการณ์ก็ดีขึ้นนะ มีกฎหมายออกมาเป็นรูปธรรมเหมือนเป็นการตอกหมุดว่ามีการศึกษาแบบนี้เกิดขึ้น น่าจะช่วยให้มีอำนาจในการต่อรองมากขึ้น”

5. ในส่วนของโรงเรียนทางเลือกที่มุ่งเน้นไปที่การเรียนรู้ของเด็กและมีความเอาใจใส่ต่อพัฒนาการชีวิตของเด็กมากกว่าโรงเรียนในระบบ ก็กลายมาเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้ปกครองที่ไม่อยากให้ลูกเข้าเรียนในระบบ วิมลศรี ศุษิลวรณ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรเพื่อการเรียนรู้ โรงเรียนเพลินพัฒนา ให้ความเห็นด้านโฮมสคูลในฐานะหนึ่งในผู้บริหารของโรงเรียนที่ไม่เน้นการศึกษาในระบบว่า

“คิดว่าดีนะ เพราะว่าปัจจุบันนี้ พ่อแม่เสียความมั่นใจในการดูแลลูกไปเยอะ ระบบโฮมสคูลที่เกิดมาจากการที่พ่อแม่เห็นสภาพสังคมแล้วเกิดอยากทำโฮมสคูลขึ้นมา และมาจากการที่เขาประเมินตัวเองแล้วว่า ตัวเองมีทักษะที่จะทำตรงนี้ได้ แล้วนำทักษะที่ตัวเองมีมาใช้จึงเป็นสิ่งที่ดี แต่พ่อแม่ต้องมั่นใจว่าตัวเองทำได้ มีปลายทางการศึกษาที่เชื่อมต่อกับระบบได้จริง เช่น การสอบเทียบที่เหมือนเป็นสถานีให้เราเอาเด็กเข้าไปเชื่อมอยู่กับระบบได้

มีข้อเสียอยู่บ้างตรงที่เด็กอาจจะมีเพื่อนน้อย ถ้าเขาไม่มีพี่น้องหรือครอบครัวขยายมารองรับ พ่อแม่ก็ต้องหาทางออกด้วยการพาลูกไปทำกิจกรรมอื่นๆ ให้เขาได้เจอเด็กคนอื่น และถึงแม้ว่าวิชาการอาจจะไม่กว้างเท่าเด็กที่เรียนในระบบ แต่ในแง่ของความลึกพ่อแม่สามารถสอนได้แน่นอน

เพราะถ้าเด็กมีความสนใจในความรู้ด้านใดด้านหนึ่งอย่างลุ่มลึกแล้ว เขาก็จะสามารถเข้าถึงทุกวิชาได้เหมือนกัน แต่ถ้าเน้นเรียนเพื่อสอบอย่างเดียว เด็กก็จะมีความรู้แบบผิวเผิน แล้วจบออกมาด้วยการเป็นนักเลียนแบบ แต่ไม่ใช่นักเรียนรู้”

ในแง่นี้โฮมสคูลจึงเป็นการเรียนรู้แบบลุ่มลึก โดยสร้างให้เด็กเกิดความอยากที่จะเรียนรู้ก่อน เพื่อเป็นช่องทางเข้าสู่การเรียนรู้ ซึ่งจะเข้าทางไหนก็ได้ ถ้าทำให้เด็กเกิดความอยากที่จะเรียนรู้

ส่วนเมื่อเปรียบเทียบกับแนวการสอนของโรงเรียนเพลินพัฒนาในปัจจุบัน วิมลศรีอธิบายว่า

“ระบบที่โรงเรียนใช้อยู่ตอนนี้ เป็นการนำเอาศักยภาพของพ่อแม่และของโรงเรียนมารวมกัน คือ ให้พ่อแม่เข้ามามีส่วนช่วยในการสอน ให้พ่อแม่ทุกคนคิดว่า เด็กทุกคนเป็นลูกของพ่อแม่ เช่น พ่อเป็นสัตวแพทย์ก็มาให้ความรู้เรื่องสัตว์กับเด็กๆ ในขณะที่โรงเรียนก็จะจัดการเรียนการสอนให้เด็กเกิดฉันทะในการเรียนรู้มากที่สุด ต่างจากการศึกษาในระบบมองแต่คะแนนสอบเป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งที่นี่พ่อแม่และโรงเรียนจะเห็นตรงกันว่า ชีวิตไม่ใช่การสอบ แต่ชีวิตคือ การเรียนรู้”

กับคำถามที่ว่าผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับโรงเรียนทางเลือก ภายหลังจากที่โฮมสคูลมีแนวโน้มที่จะได้รับความนิยมมากขึ้นทุกวันนี้ เธอกล่าวทิ้งท้ายว่า

“เราก็มองว่าคงไม่มีผลกระทบกับโรงเรียนทางเลือกหรอก เพราะถึงแม้ว่าผู้ปกครองจะเชื่อในหลักคิด แต่เขาก็ยังไม่มีความจริงจังในการทำให้เป็นระบบ แล้วส่วนใหญ่ผู้ปกครองก็จะเชื่อการเรียนในระบบ เขายังไม่มีความมั่นใจว่าปลายทางของระบบโฮมสคูลจะทำให้ลูกเขาเป็นอย่างที่หวัง ก็เลยคิดว่าไม่น่าจะมีผลกับเรามากนัก”

ณ วันนี้ การศึกษาแบบโฮมสคูลจึงอยู่ช่วงผลิดอกออกผล และคงจะมีผลผลิตใหม่ๆ ตามมาเรื่อยๆ หากได้รับความเข้าใจจากสังคมที่จะนำพาเด็กๆ ไปสู่แสงสว่างแห่งการเรียนรู้ครั้งใหม่ มิฉะนั้น โฮมสคูลก็อาจเป็นเพียงทางเลือกที่ไม่เคยได้รับเลือกในโลกแห่งการศึกษา.

ขอบคุณข้อมูลจาก – คุณวิภานี กาญจนาภิญโญกุล (คอลัมน์จุดประกาย) 

ที่มา กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 
http://www.bangkokbiznews.com/2007/02/09/WW06_WW06_news.php?newsid=3556


by กฤดาภรณ์ on Oct 15, 2012

Posted in ไม่มีหมวดหมู่

ติดต่อลงโฆษณา
Medium Rectangle Sidebar 1st
Fixed 1,000 baht/month
Slot 300 baht/month

ป้ายคำค้น

ในหมวดเดียวกัน
ป้ายคำค้นเดียวกัน

โปรเจ็กต์ของผู้แต่ง