ใครเห็นว่าการศึกษาไทยดีแล้ว ไม่ต้องอ่าน

คืนการศึกษาแก่ประชาชน

เวทีเล็กๆ ของคณะกรรมการปฏิรูป เปิดรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 1 “ลดอำนาจรัฐ ขจัดความเหลื่อมล้ำ” มีผู้เข้าร่วมประมาณ 200 คน มีผู้แสดงความคิดเห็น 55 คน ได้เวลากล่าวเสนอคนละ 2 นาทีก็จริง แต่เสียงเรียกร้อง “การศึกษาทางเลือก” และขอให้มี “สภาการศึกษาทางเลือก” ดังแจ่มชัดจากผู้ทำงานด้านการศึกษา และผู้เรียนอยู่ในโรงเรียนกระแสหลัก ที่บ้างพำนักอยู่ในบ้านกาญจนาภิเษก บ้างเป็นชนเผ่า ตลอดจนเสียงจากปัตตานีที่ขอให้มี “สภาการศึกษาชายแดนใต้”

จริงอยู่ ที่ผู้เสนอการศึกษาทางเลือกแทบทุกคน ณ เวทีนี้ดูเหมือนจะมาจากผู้ทำงานอยู่ในแวดวงการศึกษา “ทางเลือก” ที่ได้บุกเบิกจัดเพื่อแก้ปัญหาเพราะเห็นกับตาแล้ว ว่า มีกลุ่มผู้เรียนที่ขืนเรียนตามกระแสหลักจัดสำรับมาจากส่วนกลาง ก็รังแต่จะไม่ได้มรรคผลใด อย่างเช่น เด็กด้อยโอกาส เด็กมีปัญหาอยู่ในระบบโรงเรียนกระแสหลักไม่ได้ ผู้เยาว์ในบ้านกาญจนาภิเษก ชนเผ่า ฯ

แต่ทว่า ยุทธชัย เฉลิมชัย ผู้บุกเบิกทำงานด้านการศึกษาโฮมสคูลมานานกว่า 15 ปี จนเกิด เครือข่ายบ้านเรียนไทย ก็ได้ตั้งข้อสังเกตว่า “…เราเข้าใจการศึกษาทางเลือกอย่างไร เข้าใจตรงกันหรือไม่…” อย่างเช่น ในการประกาศจุดเน้นการศึกษา 10 ข้อ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เมื่อเร็วๆ นี้ ในข้อ 5 กล่าวถึง การให้ใช้การศึกษาทางเลือกกับเด็กมีข้อจำกัด เช่น เด็กพิการ เด็กชายขอบ เด็กด้อยโอกาส ฯ ยุทธชัย เฉลิมชัย ได้ตั้งคำถามสืบเนื่องว่า “…แล้วถ้าผู้เรียนไม่ใช่เด็กพิการ ไม่ใช่เด็กชายขอบ ไม่ใช่เด็กด้อยโอกาส ฯ จะใช้การศึกษาทางเลือกได้หรือไม่…”

อันที่จริง การจัดการศึกษาโฮมสคูลเท่าที่เกิดขึ้นมาในบ้านเรา ส่วนใหญ่ก็หาใช่เพราะผู้เรียนมีข้อจำกัดดังกล่าว ผู้เรียนทั่วไปเป็นเด็กปกติมีความอยากรู้อยากเห็นมีชีวิตชีวาตามประสาเด็กๆ แต่ทว่าพ่อแม่ผู้ปกครองเล็งเห็นความบกพร่องบางอย่างในการศึกษากระแสหลัก เช่น เร่งการอ่านการเขียน แข่งขันสูง เรียนเพื่อสอบ กวดวิชาตั้งแต่อนุบาล ระบบคอขวดอุดมศึกษา ฯลฯ แล้วรู้สึกเสียดายที่จะส่งบุตรหลานของตนไปเข้าระบบเช่นนั้น จึงได้พยายามหา “ทางเลือก” อื่นซึ่งต้องยอมรับว่า พ่อแม่ผู้ปกครองเหล่านี้มีใจเด็ดเดี่ยวทุ่มเทสูงมากในการจัดการศึกษาทางเลือกแบบโฮมสคูลให้บุตรหลานของตน ผู้จัดให้มีการศึกษาแบบโฮมสคูลทุกคน ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ผู้ปกครอง ครูอาสา พ่อแม่อาสา รู้ดีถึงความเหนื่อยยากและความลำบากท้าทาย ต่างจากในประเทศพัฒนาแล้ว ที่พ่อแม่ผู้ปกครองนอกจากไร้อุปสรรค ไม่ต้องต่อสู้จนเลือดตาแทบกระเด็นเพื่อให้เป็นที่ยอมรับ รัฐหรือชุมชนมีการจัดระบบรองรับ มีการสนับสนุนและตรวจสอบวัดผลเทียบโอนกับการศึกษากระแสหลักหากต้องการ ดังนั้น นอกจากจัดให้แก่เด็กปกติทั่วๆ ไป การศึกษาโฮมสคูลในประเทศพัฒนาแล้ว ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นเพราะผู้เรียนมีความสามารถพิเศษบางอย่าง เช่น เก่งคณิตศาสตร์ เก่งภาษา เก่งดนตรี ฯ ที่หากเข้าโรงเรียนกระแสหลัก ความสามารถพิเศษเช่นว่านี้จะเป็นอุปสรรคทั้งแก่ตัวผู้เรียนเองที่จะเบื่อหน่ายและเป็นปัญหากับห้องเรียนที่ครูต้องรับมือกับผู้เรียนกลุ่มนี้ “โฮมสคูล” จึงเป็นทางออกทางเลือก

ณ เวที คืนการศึกษาแก่ประชาชน นี้ พระสงฆ์รูปหนึ่งได้กล่าวสนับสนุนการศึกษาทางเลือก ท่าน กล่าวว่า “…กว่าจะได้รับการจดทะเบียน โฮมสคูล ก็เลือดตาแทบกระเด็น…”

นอกจากพ่อแม่ผู้ปกครองที่ใช้สิทธิจัดการศึกษาแบบโฮมสคูล “ชุมชน” ดูจะเป็นหน่วยทางสังคมที่มีผู้เสนอความคิดเห็นได้กล่าวถึงบ่อยครั้งว่า ควรจะและสามารถจะมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา (ที่ในระยะเวลาเกือบร้อยปีมานี้ รัฐได้เข้ามาเป็นผู้จัดให้แทนที่วัดและชุมชนได้เคยจัดการศึกษามาก่อน) อย่างไรก็ดี ณ เวทีนี้ที่ให้เวลาผู้เสนอคนละ 2 นาที ย่อมไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าคำว่า “ชุมชน” หมายความกว้างขวางหรือแคบขนาดไหน เพียงรับนโยบายและหลักสูตรตลอดจนงบประมาณจากส่วนกลาง หรือว่าควรจะมีบทบาทร่วมอำนาจตัดสินใจบริหารจัดการด้วยหรือไม่ อย่างไร “ชุมชน” หมายถึงใครและองค์กรใดบ้าง อาทิเช่น องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น นับเป็น “ชุมชน” ด้วยหรือไม่

โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็กที่ได้มีการปิดไปแล้วส่วนหนึ่ง มีการยุบรวมและอาจจะถูกปิดอีกนั้น มีผู้เสนอความคิดเห็นหลายครั้งว่าอย่าเพิ่งเลิกอย่าเพิ่งปิดอย่าเพิ่งยุบ น่าจะให้โอกาส “ชุมชน” ได้เข้ามามีส่วนบริหารจัดการทำให้เป็นโรงเรียนชุมชนเป็นการนำร่องเสียเลย ครูและศึกษานิเทศก์ที่เกษียณอายุไปแล้วหลายคน มีความเห็นว่าการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) แท้ที่จริง ก็คือ การศึกษาของทุกคนที่อยู่นอกโรงเรียนตลอดชีวิต ชุมชนต้องมีแหล่งเรียนรู้ของชุมชนที่ให้ชุมชนเข้ามาใช้ มีการเชิญปราชญ์ท้องถิ่น งานหัตถกรรมมาสอน การศึกษาออนไลน์ การใช้สื่อเพื่อการศึกษาต่อเนื่อง และตลอดชีวิต ฯลฯ

น่าสังเกตว่า ผู้มาเสนอความคิดเห็น ณ เวทีกลุ่มย่อย คืนการศึกษาแก่ประชาชน คือ กลุ่มคนมีการศึกษาดี มีความชำนาญเฉพาะทาง และน่าจะเป็นชนชั้นกลางที่ทำงานมีความผูกพันใกล้ชิดกับผู้มีอาชีพในภาคเกษตร ขายแรงงาน ชนเผ่า เด็กด้อยโอกาส เด็กบ้านกาญจนาภิเษก ฯ ต่างจากผู้มาเสนอความคิดเห็นในภาคเช้า ในหัวข้อ “ลดอำนาจรัฐ ขจัดความเหลื่อมล้ำ” ที่ทุกคนบนเวทีมาจากชุมชน ซึ่งรวมตัวกันตามปัญหาที่เกิดในวิถีชีวิตความเป็นอยู่ เช่น ป่า ประมงพื้นบ้าน น้ำ ฯ แต่ทั้งในภาคเช้าและภาคบ่ายมีทิศทางสอดคล้องกัน คือ การลดอำนาจรัฐในการบริหารจัดการโดยให้ประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีหุ้นส่วนร่วมด้วย

อย่างไรก็ดี คณะกรรมการปฏิรูปมิใช่นายหน้าหรือตัวแทนรับฟัง เพื่อนำไปบอกรัฐบาลในลักษณะเดียวกับที่ได้เคยมีเวทีรับฟังสมัชชาคนจน การปฏิรูปที่แท้จริง คือ การที่คนทุกภาคส่วนได้เข้ามาสื่อสารรับรู้ผลักดันร่วมกัน มิใช่เฉพาะกลุ่มคนที่มีปัญหาถูกอำนาจรัฐบั่นทอนรังแกที่ต้องมาทำหน้าที่ “ปฏิรูป” ร่วมกับคณะกรรมการปฏิรูป เพราะในที่สุด ปัญหาอำนาจรวมศูนย์ของรัฐก็ดี ปัญหาความเหลื่อมล้ำก็ดี มีผลกระทบถึงคนทุกคนในสังคม คือ ถ้าตัวเราไม่ใช่ผู้มีปัญหา เราก็เป็นส่วนหนึ่งที่ร่วมสร้างปัญหานั้น อย่างเช่น ปัญหาการศึกษาคอขวดอุดมศึกษา การกวดวิชาตั้งแต่อนุบาล ฯ แม้คนกลุ่มหนึ่งประสบผลสำเร็จ แต่ผลสำเร็จนั้นก็ตั้งอยู่บนวิถีชีวิตที่บิดเบี้ยว ทำลายคุณภาพชีวิต และสิ้นเปลืองซ้ำซ้อน

ท้ายสุด ข้อเสนอจากแพทย์หญิงกมลพรรณ ชีวพันธุศรี เครือข่ายผู้ปกครองเยาวชน เพื่อการปฏิรูปการศึกษา แม้จะไม่ใช่ “การศึกษาทางเลือก” ในทิศทางเดียวกับที่มีผู้เสนอมาก่อน แต่ก็ท้าทายให้มีเวทีสื่อสารรับฟังในวงกว้างต่อไปอีก คือ ให้ยกเลิกการสอบโอเน็ต คะแนนจีแพกซ์ ระบบแอดมิชชั่น ยกเลิกการเรียนซ้ำซาก เรียนแต่สาระวิชาไม่รู้จักคิด ตลอดจนเลิกการเรียนแยกสายวิทย์-สายศิลป์

ใครที่เห็นว่าสังคมไทยยังต้องปฏิรูป เห็นทีจะต้องมาช่วยกันคนละไม้คนละมือ ช่วยกันพูดช่วยกันสื่อสาร จะอยู่เปล่าให้เหงาใจทำไม

ขอบคุณข้อมูลจาก – คุณสุกัญญา หาญตระกูล (29-10-2553) กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ที่มา http://www.bangkokbiznews.com/2010/10/29/news_31831825.php?news_id=31831825


by กฤดาภรณ์ on Oct 15, 2012

Posted in ไม่มีหมวดหมู่

ติดต่อลงโฆษณา
Medium Rectangle Sidebar 1st
Fixed 1,000 baht/month
Slot 300 baht/month

ป้ายคำค้น

ในหมวดเดียวกัน
ป้ายคำค้นเดียวกัน

โปรเจ็กต์ของผู้แต่ง