บ้านเรียนเพื่อลูกหรือเพื่อพ่อแม่
ติดต่อลงโฆษณา
Leaderboard in Content 1st
Fixed 1,000 baht/month
Slot 300 baht/month
คุยกับคุณเพื่อนอี๊ดเมื่อวาน เรื่องการออกมาทำโฮมสคูลให้ลูกนี้ สนองความอยากของพ่อแม่หรือว่าตั้งใจทำเพื่อลูกกันแน่ 

ทำเพราะ "ปม" ส่วนตัวหรือเปล่า สิ่งที่ทำให้ลูกเป็น "สิ่งชดเชย" อดีตที่ตนเองอยากได้อยากมีหรือเปล่า

ตอนถามถามรวเดียว ตอบรวดเดียว เลยดูเหมือนคำถามเดียวคำตอบเดียว คือใช่และไม่ใช่ แล้วก็อธิบายกันไปต่อ

พอมาแยกเป็นสองคำถามก็จะเห็นชัดเจนขึ้น
[break]

ข้อแรก ทำเพื่อสนองความอยากของพ่อแม่หรือตั้งใจทำให้
ลูก อันนี้ต้องบอกว่าใช่ทั้งสองอย่าง เพราะไม่ว่าจะให้ลูกเข้าโรงเรียนหรือทำโฮมสคูล จะเลือกโรงเรียนไหน ดีเลวอย่างไร ก็เริ่มจากพ่อแม่เป็นคนเลือกให้ เป็นคนพาไป ถ้าสิ่งนั้นลูกชอบ ก็อ้างได้ว่า "เพราะลูกชอบ" ถ้าสิ่งนั้นลูกไม่ชอบ ก็อ้างได้อีกว่า "ฝึกให้รู้จักชีวิตจริง ไม่ตามใจลูก" เพราะนั่งอยู่บ้านเฉยๆ ลูกก็คงไม่คิดจะลุก "ไปโรงเรียน" หรือถ้าคิด ก็เพราะมีคนไปป้อนข้อมูลเรื่อง "โรงเรียน" ให้กับลูก ไม่เช่นนั้นเขาจะรู้ได้อย่างไรว่าในโลกนี้มีสิ่งที่เรียกว่า "โรงเรียน" และ "หนูอยากไปโรงเรียน" กระบวนการนี้โดยพื้นฐานจึงเป็น สิ่งที่พ่อแม่ทำตามใจพ่อแม่ โดยคาดหวังตั้งใจหรือมีเจตนา "ทำเพื่อลูก" ตามพื้นฐานความรู้หรือความเชื่อของตนเอง ...เช่นเชื่อว่า เด็กทุกคนต้องไปโรงเรียน หรือเชื่อว่าการศึกษากระแสหลักคือทางเดียวที่ถูกต้อง หรือเชื่อว่ามีทางเลือก ทางแตกต่าง นั่นเอง หากแต่โดยเจตนาแล้วก็ถือว่าทำเพื่อลูกทั้งสิ้น

ทีนี้มาถึงข้อที่สองที่พูดถึงปม อันนี้เป็นเรื่องใหญ่ละ เพราะในชั้นแรกพ่อแม่บ้านหรือแม้แต่ผู้บริหารสถานศึกษา หรือผู้บริหารกระทรวงศึกษา หลายท่านจัดระบบการศึกษา จาก "ปม" ในอดีตของตน พ่อแม่ที่รู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจว่าตนเรียนน้อยด้อยความรู้ ก็อยากให้ลูกได้เรียนสูงๆ คนที่เคยเรียนสูงๆ แต่น้อยเนื้อต่ำใจว่าภาษาอังกฤษไม่ดี ก็พยายามส่งลูกเรียนสองภาษา,อินเตอร์ หรือไม่ก็เน้นกันไปที่ภาษา, คนที่เคยมีปัญหาทางคณิตศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์ว่ามันยาก มันไม่รู้เรื่อง ก็จัดสิ่งเหล่านี้ให้ลูก หรือแม้ความฝันอยากเป็นนักกีฬา อยากเป็นหมอ อยากมีของเล่นดีๆ ฯลฯ ก็เอามาลงให้ลูก นี่คือปม ..ปมนี้ไม่ใช่สิ่งเลวร้ายเสียทีเดียว หากเรารู้จัก รู้เท่าทัน และใช้มันเป็นพลังในการขับดัน ขับเคลื่อนในเชิงสร้างสรรค์ แต่ถ้าเราไม่รู้จัก ไม่เท่าทัน ก็จะมีแต่ข้ออ้างไร้สาระให้กับตัวเองเท่านั้นเองว่า ภาษาอังกฤษมันสำคัญ คณิตศาสตร์มันสำคัญ แล้วก็ต้องหาข้ออ้างชั้นสอง ชั้นสามเพื่อตอบตัวเองให้ได้ว่า "มันสำคัญยังไง" ถึงแม้ว่าหลังจากนั้นอีกทั้งชีวิต ลูกจะไม่ได้ใช้ "สิ่งสำคัญ" ที่ว่านี้เลยก็ตาม ที่ดูเหมือนตลกแต่ไม่ตลกก็คือ ถึงแม้บางคนจะยอมรับได้ว่า "มันไม่ได้ใช้หรอก" แต่ก็ยังอุตส่าห์หาข้ออ้างขึ้นมาได้อีกว่า "ทำของยากได้ อีกหน่อยทำอะไรก็ได้ ...หัดคิดอย่างนี้ มันเอาไปเอื้อนู่นนี่นั้น" คืออยากหาเหตุผลเพื่อมารองรับแนวคิด ไม่ว่าจะอย่างไรก็หาได้ตลอด

ปมใหญ่กว่านั้น คือ "ความกลัว" กลัวลูกโง่ กลัวลูกเอาตัวไม่รอด กลัวลูกหางานดีๆ ทำไม่ได้ กลัวไม่มีสังคม กลัวสารพัดจะกลัว ความกลัวนี้ก็เป็นอีกแรงผลักดันหนึ่งซึ่งส่งให้พ่อแม่พยายามทุกวิถีทาง "เพื่อลูก"

กับข้อนี้ผมก็ต้องบอกว่าถูกอีก ทั้งปมและทั้งความกลัว เป็นสิ่งที่ดีถ้าเรารู้จัก และใช้มันเป็นเครื่องมือผลักดันให้เราเดินหน้า ไม่ใช่กระทำภายใต้อิทธิพลของปมหรือของความกลัว ความกลัวนี้เป็นเครื่องมือที่ดี ที่ทำให้เราไม่กระทำการโดยขาดความไตร่ตรอง ทำตามใจตัวเองเพียงอย่างเดียว แต่เพราะความกลัวนี้เองที่ทำให้เราได้คิด ได้ระมัดระวัง ได้ไตร่ตรอง แต่ถ้ากลับไปตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของความกลัวเสียแล้ว การทำอะไรก็เหมือนถูกมัดมือมัดเท้า จะทำอะไรก็ไม่กล้า จะคิดต่างก็ไม่กล้า จะลองของใหม่ก็กลัวจะผิดแผกชาวบ้าน กลัวจะไม่รอด กลัวจะโดนตำหนิ นี่คืออิทธิพลของความกลัว

โดยสรุปต่อคำถามทั้งสองข้อ ผมยอมรับโดยดีครับว่าใช่ เราจัดการศึกษาแบบบ้านเรียนให้ลูกตามความพึงพอใจของเราเองฝ่ายเดียวเป็นหลัก และใช่เรามีปมเรามีความกลัว เราเริ่มไม่เชื่อมั่นในระบบการศึกษากระแสหลัก

ดังนั้นสิ่งที่เรากำลังพยายามทำคือ พยายามทำความเข้าใจ และรู้เท่าทันสิ่งเหล่านี้ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ เป็นแรงหนุนให้เราเดินไปข้างหน้าได้ และไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของมัน

ขยายจากเรื่องความกลัว คนเรามีการตอบสนองต่อสิ่งที่เข้ามากระตุ้น ถ้าเราตีความสิ่งที่เข้ามากระตุ้นผิดพลาด การเลือกวิธีการตอบสนองก็อาจจะผิดพลาด การเจ็บ เครียด กลัว เหนื่อย หิว เหล่านี้เป็นกระบวนการที่ร่างกายเราส่งสัญญาณต่อสิ่งที่เข้ามากระทบ เมื่อไม่ได้กินข้าวก็ต้องหิว โดนตีก็ต้องเจ็บ ไม่รู้ก็ต้องกลัว เป็นเรืื่องธรรมดามาก ซึ่งทำให้เราสามารถเลือกดำเนินการโดยอ้างอิงสัญญาณที่ถูกต้องเหล่านี้ เพราะหาก ไม่หิว ไม่เจ็บ ไม่กลัวเสียแล้ว เราก็ไม่รู้ว่าจะตอบสนองอย่างไร เหมือนคนเป็นอัมพาต ถึงจะโดนคนควักเนื้อเถือหนังอยู่ก็ไม่ได้รู้สึกรู้สา จนตายไปแล้วก็ไม่เข้าใจว่าทำไมอยู่ดีๆ ถึงตายได้ เพราะไม่ได้รับสัญญาณที่ถูกต้อง นี่คือสิ่งที่ ความเหนื่อย ความหิว ความเจ็บ ความกลัว เหล่านี้ มีประโยชน์ต่อเรา

หากแต่เมื่อเรารู้ไม่เท่าทัน กลับกลายเป็นตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของสัญญาณ อันเกิดจากความไม่รู้ หรือความกลัวนี้เป็นหลัก ก็ทำให้เราไม่ได้ตัดสินใจด้วยสติ สัมปชัญญะที่แท้ แต่เหมือนวัวควายที่โดนตีซ้ายก็ไปขวา โดนตีขวาก็ไปซ้ายเท่านั้น

by Jo on Oct 11, 2012

Posted in ไม่มีหมวดหมู่

ติดต่อลงโฆษณา
Medium Rectangle Sidebar 1st
Fixed 1,000 baht/month
Slot 300 baht/month

ป้ายคำค้น

ในหมวดเดียวกัน
ป้ายคำค้นเดียวกัน

โปรเจ็กต์ของผู้แต่ง